3 สมาคมอสังหาฯ ประสานเสียง SVB ไร้ผลกระทบ อ้อนรัฐบาลใหม่ฟื้นคลาย LTV-ยืดวีซ่าต่างชาติสู้ตลาดชะลอ

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การล้มของ Silicon Valley Bank (SVB) รวมถึงแบงก์อื่นๆในสหรัฐฯไม่ได้สร้างผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่สนใจเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย และไม่เกิดการหยุดชะงักของกำลังซื้อ เพราะปัจจัยดังกล่าวถือว่ายังห่างไกลจากประเทศไทย และเป็นปัจจัยเฉพาะตัวในสหรัฐ ไม่ได้ลุกลามมาถึงภาคธนาคารในประเทศอื่น

นอกจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาตรการเข้ามาช่วยเหลือได้รวดเร็ว ทำให้วิกฤติดังกล่าวไม่ลุกลาม อีกทั้งกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคเอเชีย และบางประเทศในยุโรป ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

ขณะที่ภาพของเศรษฐกิจของไทยยังคงเห็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างเต็มที่ ภาคธุรกิจต่างๆกลับมาเดินหน้าลงทุนและทำธุรกิจอย่างเต็มที่ การจ้างงานกลับมามากขึ้น ทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยที่กดดัน คือ กำลังซื้อยังค่อนข้างน้อย หนี้สินครัวเรือนสูง รวมถึงมาตรการ LTV ที่ไม่ได้ผ่อนคลายแล้ว ทำให้กำลังซื้ออสังหาในประเทศถูกกดดัน จำเป็นต้องมีกำลังซื้อจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติเข้ามาช่วยผลักดันอีกแรง

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีของ SVB เพราะยังคงจำกัดอยู่ในสหรัฐเท่านั้น ไม่ได้เห็นสัญญาณอย่างมีนัยสำคัญที่จะลุกลามเป็นโดมิโน่มายังภาคธนาคารอื่นในต่างประเทศ แต่ปัจจัยที่ทำให้ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา คือ การไม่มีมาตรการผ่อนคลาย LTV

ขณะเดียวกันปัจจัยในประเทศที่เกี่ยวข้องกับหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง และยังถูกกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อีกทั้งดีมานด์แนวราบยังถูกดูดซับไปมากแล้วในปีก่อน ทำให้ประเมินว่าตลาดแนวราบในปีนี้อาจจะเห็นการกลับมาหดตัวลงราว 1% จากปีก่อน

“หากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ สมาคมฯมีข้อเสนอให้พิจารณาทบทวนมาตรการ โดยเฉพาะการขอให้ผ่อนปรนมาตรการ LTV อีก 1-2 ปี ลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบขั้นบันได เช่น 50% 25% และกลับมาเก็บ 100% ในปี 68 เพราะมองว่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นเต็มที่แล้ว รวมถึงให้ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ในบ้านทุกระดับราคา จากเดิมไม่เกิน 3 ล้านบาท และขยายเวลาให้ต่างชาติสามารถเช่าอสังหาฯจากเดิม 30 ปี เป็น 50 ปี” นายวสันต์ กล่าว

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า วิกฤติที่เกิดจาก SVB ล้ม แม้ว่าสร้างความกังวลอย่างมากให้กับคนทั่วโลกในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่การเข้ามาจัดการกับปัญหาของเฟดในครั้งนี้ถือว่าทำได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปัญหามีทางออก และคนเริ่มคลายกังวลในวิกฤติที่จะลุกลามไปทั่วโลกให้อยู่ในวงจำกัด ไม่เกิดการซ้ำรอยเหมือนวิกฤติซับไพร์ม

อีกทั้งไม่ได้กระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม เพราะประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติยังคงสนใจเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย และจะเป็นกำลังซื้อที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย

ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าได้รับผลกระทบบ้างจากที่ไม่มีการผ่อนคลาย LTV ทำให้เริ่มเห็นอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นมาที่กว่า 20% ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และผู้ประกอบการกับธนาคารยังมีโปรโมชั่นดอกเบี้ยให้ลูกค้า ส่วนของตลาดคอนโดมิเนียมในปีนี้จะเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่คงเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับข้อเสนอของสมาคมอาคารชุดที่ต้องการเสนอรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งในกลางปีนี้ จะขอให้ผ่อนคลายมาตรการ LTV อีก 1-2 ปี ในช่วงปี 67-68 เพราะตลาดเก็งกำไรในปัจจุบันไม่มีแล้วคนที่เข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ ที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง สอดคล้องกับการพัฒนาคอนโดมิเนียมของผู้ประกอบการต่างๆที่จับกลุ่มเรียลดีมานด์เป็นหลัก

การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ซึ่งจะช่วยดึงดูดการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของคนในประเทศมากขึ้น การกำหนดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราเดียวกันเหมือนกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะที่ดินแต่ละประเภทมีการราคาประเมินกำหนดไว้อยู่แล้ว การผ่อนปรนการให้วีซ่าระยะยาวของต่างชาติให้เท่ากับราคาคอนโดมิเนียม เช่น ซื้อคอนโดมิเนียมราคา 3 ล้านบาท ได้วีซ่า 3 ปี หรือซื้อคอนโดมิเนียมราคา 5 ล้านบาท ได้วีซ่า 5 ปี ซื้อคอนโดมิเนียมราคา 10 ล้านบาท ได้วีซ่า 10 ปี เป็นต้น และการขยายระยะเวลาการเช่าที่ดินของชาวต่างชาติจาก 30 ปี เป็น 30+30+30 ปี หรือ 50 ปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 66)

Tags: , , , ,