นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ดังนี้
(1) การปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แบบปรับฐาน ดังนี้
- กำนัน อัตรากำลังคน 7,036 ราย อัตราเงินตอบแทน 12,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 2,000 บาท/เดือน)
- ผู้ใหญ่บ้าน อัตรากำลังคน 67,673 ราย อัตราเงินตอบแทน 10,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 2,000 บาท/เดือน)
- แพทย์ประจำตำบล อัตรากำลังคน 7,036 ราย อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
- สารวัตรกำนัน อัตรากำลังคน 14,072 ราย อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
- ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง อัตรากำลังคน 149,418 ราย อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
- ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ อัตรากำลังคน 46,181 รายอัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
(2) ปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แบบขั้นวิ่ง เดิมจากขั้นละ 200 บาทต่อปี ปรับเพิ่มเป็นขั้นละ 300 บาทต่อปี และในกรณีที่ได้ 2 ขั้น จะปรับจาก 400 บาทต่อปี เป็น 600 บาทต่อปี ดังนี้
- กำนัน แบบขั้นวิ่งใหม่ 29.13 บาท/เดือน ผู้ใหญ่บ้าน 280.15 บาท/เดือน แพทย์ประจำตำบล 29.13 บาท/เดือน สารวัตรกำนัน 58.26 บาท/เดือน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง 618.59 บาท/เดือน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ 191.19 บาท/เดือน
รวมงบประมาณจากการปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แบบปรับฐานจำนวน 4,393.50 ล้านบาทต่อปี และแบบขั้นวิ่งจำนวน 402.15 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 4,795.65 ล้านบาทต่อปี
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยแจ้งว่าอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ไม่มีการปรับปรุง ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพสูงขึ้น และหลายหน่วยงานได้ปรับอัตราเงินเดือน หรือเงินตอบแทนไปแล้ว
ดังนั้นการปรับปรุงอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งในครั้งนี้จึงเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ และให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ค่าครองชีพ และทัดเทียมกับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ รวมทั้งสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เดียวกัน
เพิ่มค่าตอบแทน อบต.
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบอัตราค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบล ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป
โดยกำหนดช่วงอัตราเงินค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับรายได้ของ อบต.ซึ่งปัจจุบันมี 5,300 แห่ง แบ่งออกเป็น 6 ช่วง ซึ่งมี อบต.ที่มีรายได้เกิน 10-25 ล้านบาท จำนวน 3,562 แห่ง, รายได้เกิน 25-50 ล้านบาท จำนวน 525 แห่ง, รายได้เกิน 50-100 ล้านบาท จำนวน 166 แห่ง, รายได้เกิน 100-300 ล้านบาท จำนวน 30 แห่ง และ รายได้เกิน 300 ล้านบาท จำนวน 8 แห่ง
อัตราค่าตอบแทนใหม่ตามช่วงรายได้
รายได้ | นายกฯ | รองนายกฯ | ประธานสภาฯ | รองประธานสภาฯ | สมาชิกสภา/เลขาฯนายก/เลขาฯสภา |
---|---|---|---|---|---|
ไม่เกิน 10 ล้านบาท | 25,800 | 15,480 | 10,880 | 10,880 | 7,080 |
เกิน 10-25 ล้านบาท | 35,600 | 21,180 | 15,180 | 12,420 | 9,660 |
เกิน 25-50 ล้านบาท | 40,800 | 24,840 | 15,840 | 12,960 | 10,080 |
เกิน 50-100 ล้านบาท | 46,000 | 28,500 | 16,500 | 13,500 | 10,500 |
เกิน 100-300 ล้านบาท | 63,000 | 38,220 | 24,720 | 20,250 | 15,750 |
เกิน 300 ล้านบาท | 75,530 | 45,540 | 30,540 | 24,990 | 19,440 |
การปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนจะใช้งบประมาณจากรายได้ของ อบต.จากเดิม 9,522.05 ล้านบาท เป็น 13,774.69 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นจากเงินค่าตอบแทนปัจจุบัน 4,252 ล้านบาท คิดเป็น 44.66% เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเทศบาล และเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของผู้บริหาร และสมาชิกสภา อบต. หลังจากไม่ได้มีการปรับเงินค่าตอบแทนมานานกว่า 11 ปีคือตั้งแต่ปี 2554
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มี.ค. 66)
Tags: กำนัน, ประชุมครม., ผู้ใหญ่บ้าน, อนุชา บูรพชัยศรี, อัตราค่าตอบแทน