BCP กำไร Q1/65 พุ่งเกือบเท่าตัวรับ Net Inventory Gain-ค่าการกลั่นสูงขึ้น

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 ว่า บริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 69,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน และ 67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64

ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 13,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากไตรมาสก่อน และ 189% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ที่ 4,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 148% จากไตรมาสก่อน และ 91% จากช่วงเดียวกันของปี 64 คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 3.12 บาท

ผลดำเนินงานที่ปรับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนวิธีบันทึกเงินลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศนอร์เวย์ (OKEA) เป็นบริษัทย่อยซึ่งเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 64 เป็นต้นมา และจากกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันที่ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก อุปทานพลังงานที่ตึงตัวหลังสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันหลังความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19

รวมทั้งการทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดกิจกรรมทางสังคมในหลายประเทศทั่วโลก เป็นผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยไตรมาสแรกปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 96.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 17.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 36.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยกลุ่มบริษัทได้วางแผนทยอยเก็บสำรองน้ำมันล่วงหน้า ทำให้มี Net Inventory Gain (กำไรจากสต็อกน้ำมันสุทธิ ปรับด้วยผลต่างจากสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันล่วงหน้า) ในไตรมาสนี้กว่า 2,900 ล้านบาท

ปัจจัยหนุนดังกล่าวยังส่งผลให้ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โรงกลั่นบางจากฯ มีการปรับเพิ่มอัตรากำลังการผลิตจนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ก็ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 367% เมื่อเทียบกับปี 64

ผลการดำเนินงานแต่ละกลุ่มธุรกิจในไตรมาสแรกของปี 2565 มีดังนี้

– กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ปรับเพิ่มขึ้น 63% จากไตรมาสก่อน และ 108% จากปี 64 มี Inventory Gain 3,566 ล้านบาท (คิดเป็น Net Inventory Gain ราว 2,350 ล้านบาท) ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบอ้างอิง (Crack Spread) ของทุกผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล-ดูไบ (GO-DB) ซึ่งดีเซลเป็นผลิตภัณฑ์ที่โรงกลั่นบางจากฯ ผลิตได้มากที่สุด ส่งผลให้โรงกลั่นปรับเพิ่มอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยมาอยู่ที่ระดับ 122,100 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 102% ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น ทั้งนี้ การปรับกำลังการกลั่นยังช่วยรองรับการขยายตลาดส่งออกของผลิตภัณฑ์ UCO (Unconverted Oil) อีกด้วย

ด้านธุรกิจการค้าน้ำมันโดย BCPT ปรับตัวดีขึ้นจากกำไรต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันเตาเกรดกำมะถันต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนความต้องการใช้น้ำมันเตาในกลุ่มเรือขนส่งปรับเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ขณะที่ธุรกิจระบบขนส่งน้ำมันทางท่อและโลจิสติกส์โดย บจก. กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ (BFPL) ได้เริ่มดำเนินการบริหารระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ ช่วงกรุงเทพ – บางปะอิน เพื่อเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนขนส่งน้ำมัน ลดการสูญเสียระหว่างขนส่ง และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

– กลุ่มธุรกิจการตลาด ปรับเพิ่มขึ้น 338% จากไตรมาสก่อน โดยหลักมาจากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ส่งผลให้มี Inventory Gain เพิ่มขึ้น และปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน และ 14% จากปี 64 เนื่องจากประชาชนมีภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 และอุตสาหกรรมการบินเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ

นอกจากนี้ แม้ธุรกิจการตลาดจะยังคงได้รับผลกระทบด้านค่าการตลาดสุทธิ เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก และบริษัทได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐโดยตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน แต่ด้วยนโยบายการบริหารจัดการต้นทุนและการผลักดันยอดขายน้ำมันหล่อลื่นซึ่งมีค่าการตลาดสูงกว่า ส่งผลให้ค่าการตลาดรวมสุทธิต่อหน่วยปรับเพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาสก่อน แม้ยังคงลดลง 22% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พร้อมมุ่งเน้นขยายธุรกิจในกลุ่ม Non-Oil ทำให้ร้านกาแฟอินทนิลสามารถเพิ่มยอดขายกาแฟได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน มี.ค.65

– กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า โดยบมจ.บีซีพีจี (BCPG) ปรับเพิ่มขึ้น 196% จากไตรมาสก่อน และ 214% จากปี 64 โดยหลักมาจากการรับรู้กำไรก่อนหักภาษีจากการขายเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัท Star Energy Group Holdings Pte. Ltd. (SEGHPL) 2,031 ล้านบาท

รวมถึงปัจจัยหนุนจากค่าความเข้มแสงเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการ Solar Rooftop ในประเทศไทย ร่วมกับการรับรู้การผลิตไฟฟ้าเต็มไตรมาสของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชิบะ 1 ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ เมื่อเดือน มี.ค.65 BCPG ได้เปิด COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โคมากาเนะ ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตตามสัญญา 25 เมกะวัตต์ ทำให้ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าฯ ในประเทศญี่ปุ่นทั้งสิ้น 59.7 เมกะวัตต์

– กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยบมจ. บีบีจีไอ (BBGI) ได้รับปัจจัยบวกจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคา B100 อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการปรับลดสัดส่วนการผสม B100 เพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้ปรับเพิ่มขึ้น 35% และมีกำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้น 41% ตามลำดับเทียบจากไตรมาสก่อน พร้อมทั้งรับรู้รายได้จากธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (High Value Products (HVP) เช่น การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพภายใต้แบรนด์ B nature+ ผ่านช่องทางออนไลน์ ร้านกาแฟอินทนิล 50 สาขา ตลอดจนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือเกรดเภสัชกรรม

โดยในไตรมาสนี้ BBGI มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารปรับเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน จากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งเริ่มทำการซื้อขายใน ตลท. เมื่อวันที่ 17 มี.ค.65 เป็นต้นมา

– กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ ปรับลดลง 12% จากไตรมาสก่อน แต่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1,000% จากช่วงเดียวกันของปี 64 จากแนวโน้มราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหลักมาจากผลการดำเนินงานของ OKEA ที่มี EBITDA สูงขึ้น 401% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะมีปริมาณการจำหน่ายที่ลดลง เนื่องจากในไตรมาสนี้ไม่มีการจำหน่ายจากแหล่ง Ivar Assen และการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของแหล่ง Gjoa แต่มีปัจจัยบวกจากราคาขายเฉลี่ยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นถึง 367% จากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ จากที่กลุ่มบริษัทฯ เปลี่ยนการบันทึกเงินลงทุนใน OKEA เป็นบริษัทย่อย ทำให้รับรู้ผลการดำเนินงานด้วยวิธีการจัดทำงบการเงินรวมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 สำหรับในปี 65 คาดว่า OKEA จะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 18,500-20,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งได้รวมผลของการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในแหล่ง Ivar Aasen จาก 0.554% เป็นะ 2.777% ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.65

นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับไตรมาส 2 ของปีนี้ ราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงหนุนจากภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวอย่างมากจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่วนราคาน้ำมันใสยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากหลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการเดินทาง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นฯ ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ อีกทั้งค่าการกลั่นพื้นฐานยังมีแนวโน้มที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้โรงกลั่นบางจากฯ ยังคงมุ่งเน้นรักษากำลังการกลั่นให้สูงอย่างต่อเนื่อง

ด้านธุรกิจการตลาด ค่าการตลาดจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการลดผลกระทบต่าง ๆ ตามแผนที่เตรียมไว้ แม้จะต้องเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก โดยบริษัทฯ ยังคงติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนธุรกิจให้เหมาะสม เร่งการลงทุน เพื่อรักษาสมดุลระหว่าง การสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมทั้งดำเนินธุรกิจด้วยความคำนึงถึงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแลกิจการ อย่างมีความรับผิดชอบต่อทุกภาคส่วน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 65)

Tags: , , ,