In Focus: การเมืองฟิลิปปินส์กับเดิมพันครั้งใหม่และการกลับมาของตระกูลมาร์กอส

นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง” บุตรชายของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำจอมเผด็จการ ขณะกล่าวปราศรัยระหว่างหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ที่เมืองลิปา จังหวัดบาตังกัส เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา (ภาพ: รอยเตอร์)

บรรยากาศการเมืองในภูมิภาคตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้ สื่อหลายสำนักและนักวิเคราะห์ต่างจับจ้องไปที่การเลือกตั้งฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 9 พ.ค. หลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการบ่งชี้ว่า นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) หรือ “บองบอง” วัย 64 ปี บุตรชายของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำจอมเผด็จการ มีคะแนนนำคู่แข่งคนสำคัญอย่างนางเลนี โรเบรโด (Leni Robredo) รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันไปอย่างขาดลอย จ่อขึ้นแท่นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 17 ของฟิลิปปินส์

ข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ณ วันที่ 11 พ.ค. ระบุว่า นายมาร์กอส จากพรรคสหพันธรัฐฟิลิปปินส์ (Partido Federal ng Pilipinas: PFP) กวาดคะแนนโหวตไป 31 ล้านเสียง มากกว่านางโรเบรโด จากพรรคเสรีนิยม (Liberal Party) ถึงเท่าตัว ขณะที่ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการคืบหน้าไปแล้ว 98% โดยคาดว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหวนคืนสู่ทำเนียบมาลากันยัง (Malacanang) ในรอบ 36 ปีของตระกูลมาร์กอสได้สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วเกาะน้อยใหญ่ของฟิลิปปินส์ หลังจากที่อดีตปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้พ่อถูกโค่นอำนาจลง จนต้องลี้ภัยไปที่รัฐฮาวายเมื่อปี 2529 ทิ้งไว้แต่เพียงความทรงจำอันเลวร้ายของการคอร์รัปชันและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคนั้น In Focus ประจำสัปดาห์นี้ขอพาผู้อ่านไปเกาะติดขอบสนามเลือกตั้งและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องในฟิลิปปินส์

เปิดประวัติ “บองบอง” เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ กับเส้นทางสู่ทำเนียบมาลากันยัง

นายมาร์กอส จูเนียร์ เป็นบุตรชายคนกลางของอดีตปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และนางอิเมลดา มาร์กอส เขาถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองของครอบครัว โดยในปี 2560 เขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ผู้เป็นพ่อได้ผลักดันให้เขาลงสู่สนามการเมือง ด้วยวัยเพียง 20 ปีเศษ นายมาร์กอส จูเนียร์ ได้ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอีโลโคสนอร์เต (Ilocos Norte) ก่อนที่ผู้เป็นพ่อจะถูกโค่นอำนาจลงในปี 2529 จากการปฏิวัติพลังประชาชน

หลังจากที่ครอบครัวลี้ภัยไปอยู่ฮาวาย นายมาร์กอส จูเนียร์ เดินทางกลับมายังฟิลิปปินส์ในปี 2534 หลังจากที่พ่อของเขาเสียชีวิตลง โดยเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดอีโลโคสนอร์เต และได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอีโลโคสนอร์เตอีกครั้ง

ในปี 2538 เขาลงชิงชัยในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกแต่ก็ต้องพ่ายแพ้ ก่อนจะได้รับเลือกตั้งในปี 2553 ต่อมาในปี 2559 นายมาร์กอส จูเนียร์ ลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งใหญ่ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี แต่ก็พ่ายให้กับนางโรเบรโดไปอย่างเฉียดฉิว

ส่วนในด้านการศึกษานั้น นายมาร์กอส จูเนียร์ระบุว่า เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก่อนที่จะมีข้อครหาในภายหลังว่า เขาไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา แต่ได้รับเพียงอนุปริญญาพิเศษสาขาสังคมศาสตร์เท่านั้น โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดออกมายืนยันว่า นายมาร์กอส จูเนียร์ ไม่ได้จบการศึกษาระดับปริญญาแต่อย่างใด

เบื้องหลังชัยชนะกับการ “รีแบรนด์” ภาพลักษณ์ตระกูลมาร์กอส

บรรดานักวิจารณ์มองว่า ชัยชนะในครั้งนี้ของตระกูลมาร์กอสนั้นเป็นเพราะความพยายามแก้ไขภาพจำในยุคที่อดีตปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ปกครองฟิลิปปินส์ให้ดูเหมือนว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ โดยมีการปกปิดข้อมูลการทุจริตขนานใหญ่และความยากจนที่เกิดขึ้นในวงกว้างในช่วงเวลานั้น โดยมีตัวเลขคาดการณ์ว่า ทรัพย์สินที่อดีตปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และนางอิเมลดา มาร์กอส ภริยา ฉ้อโกงไปนั้นมีมูลค่าราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ก่อนจะตามยึดคืนกลับมาได้บางส่วนในภายหลัง

ข้อมูลจากสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า นายมาร์กอส จูเนียร์ใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียในการแก้ต่างเรื่องอื้อฉาวในอดีต โดยสื่อให้เห็นว่า สมัยที่พ่อของเขาปกครองฟิลิปปินส์นั้นไม่ได้มีการใช้กฎอัยการศึกเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง ไม่ได้มีเรื่องคอร์รัปชัน หรือทำลายเศรษฐกิจจนเกือบล่มสลาย แต่เป็นยุคที่ปลอดอาชญากรรม ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ผ่านเตรียมการมาอย่างน้อย ๆ ตั้งแต่ช่วง 10 ปีที่แล้ว โดยมีการอัปโหลดวิดีโอหลายร้อยคลิปเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง ก่อนจะนำมาโพสต์ซ้ำตามเพจเฟซบุ๊กต่าง ๆ

ชัยชนะที่ตอกย้ำฝันร้าย-ผู้ประท้วงลุกฮือ

หลังผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการส่อเค้าว่า นายมาร์กอส จูเนียร์ ได้รับคะแนนโหวตท่วมท้นชนิดถล่มทลาย ชาวฟิลิปปินส์ราว 1,000 คนได้ออกมาชุมนุมด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อประท้วงชัยชนะของนายมาร์กอส จูเนียร์ โดยมีการกล่าวหาว่า นายมาร์กอส จูเนียร์ได้เผยแพร่ข่าวปลอมในโซเชียลมีเดียเพื่อเขียนประวัติศาสตร์ใหม่เกี่ยวกับการบริหารประเทศของอดีตปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ตลอดช่วงเวลา 21 ปี

“การเลือกตั้งเมื่อวันจันทร์เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกและล้าหลัง ทำให้ทายาทเผด็จการเข้ามาปกครองประเทศ” นายเรนาโต เรเยส ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มบายันกล่าว โดยบายันเป็นกลุ่มพันธมิตรขององค์กรฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์

ทางด้านนายโบนีฟาซีโอ อีลากัน (Bonifacio Ilagan) แกนนำกลุ่มต่อต้านการคืนสู่อำนาจของตระกูลมาร์กอสและการใช้กฎอัยการศึก (Campaign Against the Return of the Marcoses) เปิดเผยว่า การเรียกร้องให้เกิดการปรองดองของนายมาร์กอส จูเนียร์นั้นไร้แก่นสาร และมีเป้าหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ ตราบใดที่เขายังไม่ตอบคำถามพื้น ๆ เรื่องความเป็นเผด็จการของผู้เป็นพ่อ ซึ่งตัวนายมาร์กอส จูเนียร์เองก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากด้วย

นอกจากนี้ในช่วงที่อดีตปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ปกครองฟิลิปปินส์นั้น ตัวของนายอีลากันซึ่งครั้งนั้นยังเป็นนักศึกษาก็ถูกทรมานและจับขังคุก ขณะที่น้องสาวของเขาหายสาบสูญไป

ตลาดหุ้นผวา-นโยบายเศรษฐกิจขาดความชัดเจน

ไม่นานหลังมีรายงานว่า นายมาร์กอส จูเนียร์ มีคะแนนขึ้นนำคู่แข่งหลัก เมื่อช่วงเช้าวันที่ 10 พ.ค. บรรดานักลงทุนต่างเทขายหุ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดร่วงลงกว่า 200 จุด หรือราว 3% หลังจากที่ถูกกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางอีกหลายแห่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์เดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นแตะ 4.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2561

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจที่ทายาทอดีตผู้นำฟิลิปปินส์พูดถึงในช่วงหาเสียงนั้น นักวิเคราะห์มองว่ายังขาดการวางแผนที่ชัดเจน โดยนายมาร์กอส จูเนียร์ พูดอย่างกว้าง ๆ ถึงการสร้างงานเพิ่มมากขึ้น และจะฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และได้แต่ย้ำถึงสโลแกนในการ “สร้างความปรองดอง” ขณะที่ฟิลิปปินส์ยังคงแตกแยกเป็นฝักฝ่ายมาตั้งแต่สมัยของนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้เป็นพ่อ

นายเรย์มอนด์ ฟรังโก (Raymond Franco) หัวหน้าฝ่ายวิจัยของอบาคัส ซีเคียวริตีส์ (Abacus Securities) มองว่า “ประเด็นสำคัญที่น่ากังวลคือ ชาวฟิลิปปินส์ไม่ได้รับการเยียวยาดูแลอย่างทั่วถึงให้กลับมาลืมตาอ้าปากหลังได้รับผลกระทบจากโรคระบาด และนโยบายของนายมาร์กอสก็ไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไปต่อ ซึ่งตรงข้ามกับคู่แข่งหลัก”

อย่างไรก็ดี นายเออร์วิน ฟูเอนเตส (Erwin Fuentes) หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำอาร์ซีบีซี ซีเคียวริตีส์ (RCBC Securities) ให้ความเห็นว่า “ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์มักโชว์ฟอร์มได้ดีหลังช่วงเลือกตั้ง เราเชื่อว่า ภาคธุรกิจและภาคการลงทุนจะยอมรับผลการเลือกตั้งได้ โดยไม่สนใจเรื่องการทุจริตของผู้ชนะ” และเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลก่อนหน้านี้ ปล่อยให้การบริหารงานเป็นเรื่องของฝ่ายเศรษฐกิจ และเราคิดว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ก็จะเดินตามสูตรนี้เช่นกัน”

นอกจากนี้ นายฟูเอนเตสยังคาดการณ์ว่า หลังจากที่บรรยากาศอันคลุมเครือทางการเมืองคลี่คลายลงแล้ว ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์จะไต่สู่ระดับ 7,800 จุดได้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 9.5% จากปี 2564 โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

… การเมืองฟิลิปปินส์หลังจากนี้ไป คงต้องรอดูกันว่า การกลับมาของทายาทอดีตผู้นำฟิลิปปินส์ที่ครั้งหนึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นจอมเผด็จการที่ไม่มีใครต้องการนั้น จะสามารถล้างตราบาปและนำพาประเทศฝ่าวิกฤตไปได้อย่างที่หวังไว้หรือไม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 65)

Tags: , , ,