ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากสถานการณ์โควิดที่ผ่อนคลาย ทำให้นักเรียนสามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติ (On-Site) ซึ่งจะเริ่มทยอยเปิดเรียนในวันที่ 17 พ.ค. 65 และในช่วงเวลานี้ของทุกปี ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา แต่เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 65 ที่ผ่านมาราคาสินค้าหลายประเภทและพลังงานเร่งตัวสูงขึ้น ขณะที่การจ้างงานและรายได้ภาคครัวเรือนยังอ่อนแอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของผู้ปกครองบางกลุ่ม ที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเหล่านี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำการสำรวจมุมมองผลกระทบ และการปรับตัวในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเปิดเทอมใหญ่ปี 65 ของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียน (ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลาย) ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น จากกลุ่มตัวอย่าง 500 คน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
จากผลสำรวจ พบว่า สิ่งที่ผู้ปกครองมีกังวลมากที่สุดขณะนี้ คือ ปัญหาเรื่องของราคาสินค้าและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ และการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน และจากผลสำรวจสะท้อนว่า ผู้ปกครองกว่า 70.8% แสดงความกังวล/มีปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน ในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานในการเปิดเทอมปี 65
อย่างไรก็ดี เนื่องจากในภาวะปัจจุบัน ผู้ปกครองบางกลุ่มยังคงเผชิญกับปัญหาหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวยังหางานไม่ได้ ชั่วโมงการทำงานยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ยอดขายของธุรกิจที่ลดลง มีภาระที่ต้องผ่อนชำระเงินกู้ อีกทั้งยังต้องพบเจอกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยกลุ่มผู้ปกครองที่มีความกังวลหรือมีปัญหาด้านสภาพคล่อง ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง และเป็นกลุ่มที่มีภาระการผ่อนชำระสินเชื่อมากกว่า 1 บัญชี หรือเงินกู้ยืมจากแหล่งอื่น
สำหรับสิ่งที่ผู้ปกครองยังมีความกังวลรองลงมา คือ เรื่องของโรคโควิด แม้ขณะนี้นักเรียนบางส่วนจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว (โดยในวัยเรียนอายุ 5-11 ปี ได้รับวัคซีน 2 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15.5% ของนักเรียนในวัยดังกล่าว และอายุ 12-17 ปี ได้รับวัคซีน 2 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75.5% ของนักเรียนในวัยดังกล่าว ข้อมูลศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันที่ 7 พ.ค. 65) แต่ผู้ปกครองยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโรค เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังสูง
ทั้งนี้ จากผลสำรวจสะท้อนว่า ผู้ปกครองกว่า 56.8% ยังไม่มีความมั่นใจเมื่อบุตรหลานต้องกลับไปเรียนที่โรงเรียนเต็มรูปแบบ เนื่องจากมองว่าโควิดนั้นติดต่อง่าย และอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของบุตรหลาน ส่วนผู้ปกครองกว่า 43.2% มีความมั่นใจที่บุตรหลานจะได้กลับเข้าไปเรียนที่โรงเรียน (ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป) เนื่องจากบุตรหลานได้รับการฉีดวัคซีน และมองว่าทางสถานศึกษามีมาตรการที่ดีในการเฝ้าระวังการระบาดของโรคในโรงเรียน
สำหรับแหล่งเงินที่ผู้ปกครองนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน โดยส่วนใหญ่จะมาจากเงินออม และมาจากแหล่งเงินอื่นๆ เช่น บัตรเครดิต ยืมญาติ/เพื่อน เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วน 41.8% รองลงมา คือ ผู้ปกครองใช้เงินออมของตนทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วน 30.4% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด
อย่างไรก็ดี มีผู้ปกครองส่วนหนึ่งที่มีเงินออมไม่เพียงพอ เพื่อนำมาใช้จ่ายในการชำระค่าเทอม และซื้ออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน และอื่นๆ จำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากที่อื่น 27.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เช่น ยืมญาติ/เพื่อน ใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด โดยมีผู้ปกครองบางรายพี่งโรงรับจำนำ กู้นอกระบบ และผู้ปกครองบางรายเลือกที่จะขอผ่อนชำระหรือผ่อนผันกับทางโรงเรียน
ขณะเดียวกัน ในภาวะดังกล่าวกลุ่มตัวอย่างกว่า 82.6% มองว่า ในช่วงเวลานี้ทางการควรมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา หรือด้านอื่นๆ อาทิ มาตรการเงินช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายและค่าเทอม มาตรการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษา หรือมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อ Antigen Test Kit (ATK) ตรวจโควิด เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 65 นี้ อาจมีมูลค่าประมาณ 26,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มูลค่าการใช้จ่ายยังต่ำกว่าในช่วงผลสำรวจปี 63 สำหรับค่าใช้จ่ายที่ปรับขึ้นในปีนี้มาจากปัจจัยเฉพาะ ดังนี้
– ค่าเทอมและค่าธรรมเนียม (คำนวณในส่วนของโรงเรียนรัฐและเอกชน ไม่รวมโรงเรียนนานาชาติ) โดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.7% จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่า 22,700 ล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าผลสำรวจในปี 63 (มีมูลค่าประมาณ 22,965 ล้านบาท) โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ที่ปรับขึ้นเป็นผลของฐาน
ทั้งนี้ เนื่องจากในปีการศึกษา 65 นี้ ทางโรงเรียนเปิดเรียนแบบเต็มรูปแบบ (On-Site) ทำให้ในส่วนของค่าธรรมเนียม ค่าบริการและค่ากิจกรรมต่างๆ กลับมาจัดเก็บในอัตราปกติ (ในปีการศึกษา 64 ที่ผ่านมา เนื่องจากการระบาดของโควิด ทำให้เวลาส่วนใหญ่นักเรียนจะเรียนผ่านออนไลน์ และเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง ทำให้ทางโรงเรียนได้งด/ปรับลดค่าธรรมเนียม บริการและค่ากิจกรรมต่างๆ ที่นักเรียนไม่ได้ใช้บริการ) และโรงเรียนเอกชนบางแห่งปรับราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนการทำธุรกิจอย่างค่าแรงบุคลากร หรือค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น
ส่วนค่าเทอมโรงเรียนเอกชน จากผลสำรวจ พบว่า การปรับขึ้นค่าเทอมยังทำได้จำกัด และเป็นเฉพาะแห่งซึ่งขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักเรียนของแต่ละโรงเรียน และในปีนี้ โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ยังคงตรึงราคาค่าเทอม และบางแห่งยังให้ส่วนลดค่าเทอม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง
– ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รองเท้า รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าขนม/ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เป็นต้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้ว่าในปีนี้สินค้าบางประเภท เช่น ชุดนักเรียน ผู้ประกอบการยังคงไม่ปรับขึ้นราคา
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการมีการจัดโปรโมชั่นราคาพิเศษสำหรับชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน แต่เนื่องจากเปิดเทอมใหม่ในปี 65 นี้ นักเรียนสามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติ จึงต้องมีการซื้อสินค้าบางประเภทมากขึ้น เช่น ชุดนักเรียน หรือชุดทำกิจกรรม เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นผลมาจากราคาสินค้าบางประเภท ได้มีการปรับขึ้นราคาไปก่อนหน้าแล้ว ประกอบกับในปีนี้ทางภาครัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ปกครองอย่างปีที่ผ่านมา
– ค่าใช้จ่ายในส่วนของการเรียนกวดวิชาและเสริมทักษะ แม้นักเรียนสามารถกลับไปเรียนได้แล้ว แต่ปัจจัยความกังวลในเรื่องโควิดที่ยังมีอยู่ ประกอบกับประเด็นกำลังซื้อ ทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ยังปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยผู้ปกครองบางรายเลือกที่จะปรับลดวิชาเรียน ขณะที่บางกลุ่มงดการเรียนพิเศษชั่วคราว ซึ่งเมื่อสถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจดีขึ้น ผู้ปกครองคงจะให้บุตรหลานกลับไปเรียนกวดวิชาและเสริมทักษะ
อย่างไรก็ดี มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมปีนี้ที่เพิ่มขึ้นข้างต้น อาจไม่ได้สะท้อนว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีทิศทางที่ดี แต่เป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้าที่ได้รับผลกระทบมากจากการระบาดของโควิด รวมถึงผลด้านราคาและค่าครองชีพ ขณะที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพื่อการศึกษาของบุตรหลาน โดยอาจพิจารณาเลือกตัดลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก้อนอื่นๆ ควบคู่กับการหาแหล่งรายได้อื่นเข้ามาเพิ่มทดแทน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 65)
Tags: นักเรียน, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เปิดเทอม, เศรษฐกิจไทย, โรงเรียน