สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิด รวมถึงไบโอดีเซลนั้นปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามราคาพืชน้ำมันในตลาดโลกด้วยหลายเหตุผล เช่น วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทางสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยเข้าใจว่ามีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยคิดว่าการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลลงจะช่วยให้ราคาจำหน่ายดีเซลลดลงได้มากถึง 2-3 บาท/ลิตร ต่อการปรับสัดส่วนการผสมลง 1% รวมถึงราคาสินค้าต่างๆ ที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มก็อาจจะปรับลดลงด้วยเช่นกัน
แต่อันที่จริงแล้วการปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลลงจะส่งผลให้ราคาจำหน่ายดีเซลลดลงเพียงประมาณ 0.1-0.15 บาท/ลิตร ต่อการปรับสัดส่วนการผสมลง 1% เท่านั้น ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็อาจจะไม่ได้ลดลงเลย เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศนั้นผูกติดกับราคาในตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ
อุตสาหกรรมไบโอดีเซลนั้น เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนโดยนโยบายภาครัฐเป็นสำคัญ ด้วยวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันฟอสซิลจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงทางพลังงาน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกรปาล์มน้ำมัน ช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มส่วนเกิน รักษาเสถีรยภาพราคาวัตถุดิบน้ำมันปาล์มไม่ให้ตกต่ำจนเกินไปตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
โดยกระทรวงพลังงาน ภาครัฐกำหนดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลไว้ที่ 8 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งในปี พ.ศ.2563 ภาครัฐได้ปรับเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล โดยประกาศให้ไบโอดีเซลบี10 เป็นเกรดพื้นฐาน ส่งผลให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ภาครัฐมีการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจากเดิมมี 3 เกรด คือบี 10 (เกรดพื้นฐาน) บี7 และบี 20 (เกรดทางเลือก) ลดลงเหลือบี 7 และในช่วงนี้เหลือเพียงบี 5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเป็นอย่างมาก โดยนโยบายดังกล่าวทำให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลลดลงถึง 35-40% หรือคิดเป็นมูลค่า 50-60 ล้านบาท/วัน
ที่สำคัญไบโอดีเซลเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ภาครัฐสนับสนุนให้เอกชนลงทุนตามนโยบายของประเทศ สมาคมฯ เห็นว่าการกำกับดูแลให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ได้ตามสมควรเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง มิเช่นนั้นคงเป็นการยากที่ภาครัฐจะขับเคลื่อนประเทศด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่อไปในอนาคต เนื่องจากเอกชนขาดความมั่นใจว่านโยบายสนับสนุนการลงทุนต่างๆ ที่ออกมานั้นจะมีความต่อเนื่องหรือไม่ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ อุตสาหกรรมนี้ได้สร้างมูลค่ากว่า 30,000-70,000 ล้านบาท/ปี
ทั้งนี้สมาคมฯ ตระหนักถึงความสำคัญด้านต้นทุนพลังงาน และเข้าใจถึงเหตุผลในการลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามหากลดสัดส่วนการผสมลงมากกว่าที่เป็นอยู่ อุตสาหกรรมไบโอดีเซลจะได้รับผลกระทบถึงขั้นวิกฤติ
ปัจจุบันในประเทศไทยมีกำลังการผลิตไบโอดีเซลรวมประมาณ 10 ล้านลิตรต่อวัน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพียงกว่า 30% ซึ่งในแง่อุตสาหกรรมพิจารณาว่าเป็นการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำมากจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อยู่แล้ว ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ อุตสาหรรมไบโอดีเซลซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการดูดซับผลผลิตปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาตกต่ำให้เกษตรกรจะอยู่รอดได้อย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 65)
Tags: น้ำมันปาล์มดิบ, ราคาพลังงาน, สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย, ไบโอดีเซล