คงไม่มีใครไม่ทราบข่าวเกี่ยวกับการสู้รบระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ซึ่งมีแง่มุมต่าง ๆ ให้ศึกษาและติดตาม นอกเหนือจากเรื่องการเมืองระหว่างประเทศหรือการสงครามแล้ว ในมุมของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีก็มีให้ศึกษาติดตามไม่แพ้กัน
โดยเฉพาะจากข่าวผู้ลี้ภัยชาวยูเครนหนีออกนอกประเทศเพื่อหนีสงคราม โดยเปลี่ยนทรัพย์สินของตนเองเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อความสะดวกในการโยกย้าย ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่าวิธีการดังกล่าวสามารถใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพหรือไม่? หากเกิดสงครามระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบหรือสงครามโลก
ทุกวันนี้เป็นที่ทราบกันดีกว่าคริปโทเคอร์เรนซีเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสามารถใช้และเปลี่ยนหรือชำระราคาได้ ซึ่งการทำงานของคริปโทเคอร์เรนซีส่วนใหญ่นั้นจะทำงานบนระบบ Blockchain โดยมีอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง เปรียบเสมือนเป็นตัวกลางในการโอนย้ายคริปโทเคอร์เรนซีนั้น ๆ
ในระยะแรกของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โครงสร้างพื้นฐาน ระบบโทรคมนาคม รวมถึงระบบอินเตอร์เน็ตในยูเครนถูกทำลายโดยกองทัพรัสเซียเป็นสิ่งแรก ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้คริปโทเคอร์เรนซีอย่างแน่นอน เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงกระเป๋าเงินดิจิทัลได้ รวมถึงไม่สามารถจำหน่าย จ่าย แจกคริปโทเคอร์เรนซีได้ ณ ช่วงเวลาหรือสถานที่นั้น ๆ ที่คริปโทเคอร์เรนซีคุณสมบัติคือเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่าง ๆ
ต่อมายูเครนก็ได้รับการสนับสนุน Starlink ซึ่งเป็นโครงข่ายอินเตอร์เน็ตดาวเทียมของ SpaceX ทำให้คริปโทเคอร์เรนซีกลับมาใช้งานได้อีกครั้งด้วยข้อจำกัดจากที่ต้องอยู่ภายใต้สัญญาณของ Starlink กล่าวคือ ต้องอยู่ใกล้ตัวรับสัญญาณถึงจะสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้
และหากจะนำคริปโทเคอร์เรนซีออกนอกประเทศ เช่น เก็บเฉพาะ Private Key ติดตัวออกไปนอกประเทศ ก็จะเผชิญปัญหาเช่นเดียวกันกับปัญหาข้างต้น หากเกิดสงครามขนาดใหญ่ระหว่างประเทศหลายประเทศ คู่ขัดแย้งคงไม่ปล่อยให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทำงานได้โดยปกติ รวมถึงการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีโดยไม่สามารถเข้าถึงกระเป๋าหรือตรวจสอบความมีอยู่ของคริปโทเคอร์เรนซีนั้น ๆ บน Chain ต่าง ๆ ได้ก็เป็นเรื่องยากที่จะมีการซื้อ ขาย แลก เปลี่ยนกัน
ผู้เขียนเห็นว่าความเป็นไปได้ในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีเพื่อใช้คงมูลค่าทรัพย์สินของบุคคลเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในระหว่างสงครามในระดับต่าง ๆ แต่หากจะใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างสงครามอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าคริปโทเคอร์เรนซียังต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ระบบไฟฟ้า เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตในการทำธุรกรรม ซึ่งในระหว่างสงครามก็น่าจะถูกโจมตีหรือทำลายเป็นสิ่งแรก ๆ
อย่างไรก็ตาม ความเห็นข้างต้นเป็นความเห็นของผู้เขียนโดยเฉพาะ หากเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ขึ้นในอนาคตก็หวังว่าผู้พัฒนา Blockchain และสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกจะสามารถหาทางออกในเรื่องดังกล่าวได้
หรือ Starlink ของ อีลอน มัสก์ จะเป็นทางรอดเดียวของการใช้คริปโทเคอร์เรนซีในช่วงสงคราม ?
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 65)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, คริปโทเคอร์เรนซี, สงคราม