กนอ.เดินหน้ายกระดับนิคมฯ สู่ เมืองอุตฯ เชิงนิเวศ ผ่าน Green Logistic-Eco School

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาระบบขนส่งสีเขียว (Green Logistic) และหัวข้อแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโค สคูล (Eco School)” เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) เพื่อเป็นการส่งเสริมและยกระดับให้นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรมและโรงงาน มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการหรือกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย Thailand 4.0 กนอ. มีการตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 ท่าเรืออุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 และโรงงานอุตสาหกรรม 4.0

ในการสัมมนามีการให้ความรู้ผู้ประกอบการในการยกระดับการขนส่งสีเขียวด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ การสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร และการสร้างความน่าเชื่อถือต่อสาธารณะ โดยในส่วนของการจัดการด้านขนส่งสีเขียวสอดคล้องกับเกณฑ์ตัวชี้วัดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-Champion ในมิติด้านการบริหารจัดการ และ Eco-Excellence ในมิติกายภาพ

ขณะที่การสัมมนาในหัวข้อ Eco School เป็นการส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมมีความร่วมมือกันส่งเสริมให้เกิดชุมชนเชิงนิเวศ สอดคล้องกับเกณฑ์ตัวชี้วัดระดับ Eco-World Class ในมิติด้านสังคม เพื่อการพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในระดับต่าง ๆ ประกอบด้วย ระดับ Eco-Champion, Eco-Excellence และ Eco-World Class ต่อไป

“การสัมมนาทั้ง 2 หัวข้อเพื่อเป็นการยกระดับนิคมฯ และโรงงาน นอกจากนี้ กนอ. ยังมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ที่ตระหนักต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมและสังคม สร้างพลเมืองที่มีความรู้ ความเข้าใจ ต่อยอดสู่การเป็นบุคคลากรที่ร่วมกันสร้างสังคมที่มีระบบนิเวศที่ดีอย่างยั่งยืนด้วย”นายวีริศ กล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 และโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 ประกอบด้วย 8 ด้าน ดังนี้ 1. ระบบการจัดการอัจฉริยะ (Smart Water) 2. ระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 3. ระบบจัดการสิ่งปฏิกูลที่ไม่ใช้แล้วอัจฉริยะ (Smart Waste) 4. ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอัจฉริยะ (Smart Environment Surveillance) 5. ระบบป้องกันด้านความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Safety/Emergency) 6. ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Logistic) 7. ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ (Smart IT) และ 8. อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) สำหรับนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม หรือ กระบวนการผลิตอัจฉริยะ (Smart Resource/Process) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ กนอ. ยังมีโครงการส่งเสริมสนับสนุนโรงงานให้เป็นโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การสร้างเครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรมลดก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) หรือโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) และการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ยั่งยืน ซึ่งโรงงานที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

“กนอ.มุ่งมั่นยกระดับนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและสังคมที่ยั่งยืน”นายวีริศ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ค. 65)

Tags: , ,