รายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) เปิดเผยว่า ความเสียหายจากการปรับขึ้นภาษีฝ่ายเดียวระหว่างสหรัฐและจีนนั้น จะยังคงส่งผลกระทบต่อการเติบโตของห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains – GVCs) ไปอีก 3-5 ปีข้างหน้าในประเทศที่ได้รับผลกระทบ
รายงานดังกล่าววิเคราะห์ถึงอนาคตห่วงโซ่มูลค่าโลกหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุว่า การค้าในระบบซัพพลายที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวประสบภาวะหดตัวลง เช่นเดียวกับการค้าประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ดี ระบบซัพพลายดังกล่าวจะยังคงมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แม้ว่าผู้ผลิตทั่วโลกจะพิจารณาย้ายฐานการผลิตให้อยู่ใกล้ประเทศของตนเองมากขึ้นก็ตาม
นอกเหนือจากสงครามการค้า รายงานยังระบุว่า นโยบายทางการค้าที่เข้มงวดในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ยังสร้างความเสียหายให้แผ่ขยายในวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ผลิตจำกัดการส่งออก ขณะที่ปัญหาด้านซัพพลายนั้นเกิดขึ้นจากการที่ต้นทุนการขนส่งสินค้าทั่วโลกทะยานขึ้น ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้นตามไปด้วย และยิ่งสร้างความกังวลต่อตลาดทั่วโลกซึ่งเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
นางคานนี วิกนราชา ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติและผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ UNDP กล่าวว่า “เราเผชิญปัญหาทั้งสองด้านเนื่องจากโรคระบาดและสงครามการค้าซึ่งประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐและจีน มีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงที่ขยายวงกว้างมากขึ้น”
ทั้งนี้ กำแพงภาษีภายใต้สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น ยังคงส่งผลให้มีการจัดเก็บภาษีสินค้ามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 64)
Tags: UN, การส่งออก, คานนี วิกนราชา, จีน, ภาษี, ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, สงครามการค้า, สหประชาชาติ, สหรัฐ, ห่วงโซ่, โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ