นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ให้นโยบายที่ชัดเจนและได้ขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ในการใช้ประโยชน์จากการค้าชายแดนและผ่านแดน
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่จังหวัดหนองคายเมื่อช่วงเดือนม.ค. ที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ได้หารือกับภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการใช้ประโยชน์จากรถไฟจีน-ลาวให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้ติดตามแก้ปัญหา รวมถึงอำนวยความสะดวกโดยให้บรรจุไว้ในวาระการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์)
“ประเด็นที่สามารถหาทางออกร่วมกับภาคเอกชนได้ ระหว่างการประชุมรมว.พาณิชย์ จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที แต่สำหรับประเด็นที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ทันที ก็จะรับไปดำเนินการต่อด้วยตัวเอง”
นางมัลลิกา กล่าว
สำหรับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปยังประเทศจีน ที่มีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องครอบคลุมหลากหลายประเด็น เช่น
ประเด็นที่ 1 ปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการขนส่ง เนื่องจากรถบรรทุกจากประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนหัวรถเมื่อเดินทางไปถึง สปป.ลาว รมว.พาณิชย์ ได้ยกประเด็นดังกล่าว ขึ้นหารือกับการประชุมร่วมกันกับ รมว.อุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทางการลาวก็ได้รับประเด็นดังกล่าวไปพิจารณาแล้ว
ประเด็นที่ 2 จำนวนเจ้าหน้าที่และจำนวนชั่วโมงของด่านตรวจสินค้า บริเวณชายแดนระหว่างลาว-จีน และเวียดนาม-จีน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ไทยส่งสินค้าผ่านทางบกด้วยรถบรรทุกไปเป็นจำนวนมาก ในประเด็นดังกล่าวนี้ รมว.พาณิชย์ได้ใช้เวทีการประชุม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 หรือการประชุมร่วมกับ รมว.อุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว
ทั้งนี้ ได้เจรจาเพื่อขอให้ รมว.อุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม และ สปป.ลาว พิจารณาเป็นตัวแทนของประเทศในอาเซียนที่มีชายแดนติดกับประเทศจีน ช่วยเจรจาให้ทางการจีนอำนวยความสะดวกในการตรวจสินค้า โดยเพิ่มระยะเวลาในการทำการของเจ้าหน้าที่ และเร่งเปิดด่านที่ปิดอยู่ในปัจจุบันด้วย
ประเด็นที่ 3 กระทรวงพาณิชย์ประสานงานร่วมกันกับกระทรวงการต่างประเทศ ในการเร่งเจรจากับรัฐบาลจีนให้เปิดด่านสถานีรถไฟโม่ฮาน โดยได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีประจำสำนักงานศุลากรแห่งชาติจีน (GACC) เพื่อขอประชุมหารือผ่านระบบออนไลน์โดยเร็วที่สุด ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอตอบรับจากฝ่ายจีน เชื่อว่าจะสามารถหาทางออกที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่จีนยังคงมีนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID) อยู่ได้ โดยสามารถรับผลไม้จากประเทศไทยที่มีคุณภาพ และปลอดเชื้อโควิดเข้าไปถึงผู้บริโภคในจีนได้อีกด้วย
“ที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ ได้ใช้ประโยชน์จากทุกเวที เพื่อหาทางออกที่จะส่งผลต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการผู้ส่งออกไทย ผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์และผลผลิต เกษตรกรผู้ปลูกผักและผลไม้ไทยที่กำลังจะออกผลผลิตจำนวนมากในปีนี้ เมื่อใดที่การขนส่งชายแดนและผ่านแดนไปยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะประเทศจีน สามารถกลับไปดำเนินการได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นั้น ก็จะสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกของประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่ามูลค่าการส่งออกในปีที่ผ่านมา ถือเป็นเครื่องจักรตัวเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาถึงปัจจุบันได้”
ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ กล่าว
ล่าสุด กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ดำเนินการตามนโยบายของที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ ในการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทย เพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งผ่านรถไฟจีน-ลาว โดยกิจกรรมดังกล่าวจะรวบรวมความรู้ เพิ่มความชัดเจนด้านเส้นทางการขนส่ง และต่อยอดโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ผ่านการจัดงานเสวนาหัวข้อ “โอกาส อุปสรรค และทางออกของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยในภาคอีสานตอนบน จากการเชื่อมโยงรถไฟจีน-ลาว” ในวันที่ 19 พ.ค. 65 เวลา 10.00-12.00 น.
สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย ผู้แทนจากหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้แก่ นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย/ประธานหอการค้าภาคอีสาน และนางดวงใจ สุขเกษมสิน เลขานุการหอการค้า จังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยนายสุรัตน์ จันทองปาน กรรมการบริหารสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต และผู้บริหาร บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD)
ในส่วนของผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ 1. โรงแรมรอยัล นาคารา หนองคาย จังหวัดหนองคาย และ 2. ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ที่เว็บไซต์ https://tinyurl.com/Train-china-laos ตั้งแต่วันนี้ – 10 พ.ค. 65
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 65)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, การค้าชายแดน, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ผลไม้ไทย, มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข