นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวภายหลังรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ จากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ได้กำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้หารือกับประธานวุฒิสภาแล้วเห็นว่าจะประชุมร่วมในวันที่ 22 มิ.ย. จะประชุมร่างกฎหมายของรัฐสภาที่ค้างอยู่ คือ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และวันที่ 23 มิ.ย. จึงจะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 2 วัน โดยจะดูว่าหากเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะเดียวกันก็จะพิจารณาไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม ในวันประชุมอาจจะมีปัญหาบ้าง เนื่องจากเป็นการประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งมีสมาชิกวุฒิสภามาร่วมประชุมด้วย ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำมาตรการในการป้องกันมาตรการด้านสาธารณสุข ให้ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย 100% แต่การเว้นระยะห่างอาจจะทำไม่ได้มาก เนื่องจากมีสมาชิกมาเพิ่มอีก 250 คน แต่เชื่อว่าการใส่หน้ากากอนามัยครบทุกคนจะสามารถป้องกันได้ ส่วนผู้อภิปรายก็จะมีแท่นอภิปรายเตรียมแยกไว้ให้
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยื่นมี 5 ร่าง โดยร่างแรก แก้ไขมาตรา 256 เพื่อไปสู่กระบวนการตั้ง ส.ส.ร. มีพรรคการเมืองส่วนหนึ่งรวมลงชื่อ ซึ่งเชื่อว่ายื่นได้ตามกระบวนการของรัฐสภา คิดว่าไม่น่าจะเป็นอุปสรรค
ขณะที่อีกร่าง แก้ไขให้ตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี มาตรา 272 ทุกพรรคฝ่ายร่วมลงชื่อโดยพร้อมเพรียงกัน ส่วนอีก 3 ร่างเป็นเรื่องสิทธิของประชาชน หลักประกันสุขภาพ เรื่องการประกันตัว เรื่องระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวหรือบัตร 2 ใบ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยกเลิกอำนาจ คสช.ต่างๆ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา 272 เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผลักดันมาตลอด และเห็นว่าเป็นต้นตอของความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งที่เห็นไม่ตรงกัน ไม่ใช่เรื่องแปลก พรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับบัตร 2 ใบ แต่มีหลายรูปแบบก็ต้องมาถกเถียงกันว่าอะไรเหมาะกับสถานการณ์ ยืนยันว่าฝ่ายค้านมีเอกภาพ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันในพรรคฝ่ายค้านตลอด แต่อาจจะมีความเห็นต่างกันได้
ส่วนกรณีที่ไม่ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไข มาตรา 256 เพื่อยกร่างให้มี ส.ส.ร.นั้น นายพิธา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเน้นไปที่ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ และการตัดอำนาจส.ว. ดังนั้นวันนี้ขออย่าหลงประเด็น เพราะไม่ว่าจะแก้อะไรก็ตาม หากยังมี ส.ว.อยู่ การแก้ไขประเด็นอื่นคงไม่สำเร็จ
ทั้งนี้ต้องขอบคุณประธานรัฐสภา ที่ตอบรับพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติก่อน ซึ่งก็จะตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และเชื่อว่าในสมัยประชุมนี้ น่าจะได้เห็นความก้าวหน้าของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 64)
Tags: การเมือง, ชวน หลีกภัย, ประเสริฐ จันทรรวงทอง, พ.ร.บ.ยาเสพติด, พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, รัฐสภา, ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ, สมพงษ์ อมรวิวัฒน์