นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) สินค้าเครื่องมือแพทย์และเภสัชภัณฑ์ ระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม 65 ซึ่งได้ผลตอบรับดีเกินคาด มีมูลค่าซื้อขายทันที 4,030,000 ล้านบาท และมูลค่าซื้อขายคาดการณ์ภายใน 1 ปี 108,283,000 ล้านบาท โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการขยายช่องทางตลาดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ที่ยังไม่คลี่คลาย โดยใช้กลยุทธ์รักษาและขยายตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ และฟื้นตลาดเก่าที่มีอยู่แล้ว ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค นอกจากนี้ กระแสรักสุขภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ ส่งผลให้คนหันมาดูแลและใส่ใจสุขภาพตนเองมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเครื่องมือแพทย์และเภสัชภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้นด้วย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าออนไลน์ดังกล่าว โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 21 ราย เจรจาการค้ากับผู้นำเข้าที่มีศักยภาพ และผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ทั่วโลก จำนวน 47 ราย จากต่างประเทศกว่า 22 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนติน่า บราซิล ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮังการี อินเดีย ญี่ปุ่น เคนย่า ลาว มาเลเซีย พม่า ไนจีเรีย เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย สเปน ไต้หวัน แทนซาเนีย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจรวมทั้งสิ้น 119 คู่เจรจา และมีผลการเจรจาการค้าคาดการณ์ภายใน 1 ปี คิดเป็นมูลค่ารวม 108,283,000 ล้านบาท
สำหรับกิจกรรมการเจรจาการค้าออนไลน์ที่จัดขึ้นในครั้งนี้พบว่าผู้นำเข้าทั้ง 22 ประเทศให้ความสนใจในการร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยประเทศที่ผู้นำเข้าสนใจสั่งซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เมียนมาร์ ชิลี ลาว อินเดีย และอาร์เจนติน่า ซึ่งสินค้าที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ โละหะดามกระดูกและโลหะสอดในโครงกระดูก อะไหล่สำหรับงานทันตกรรม ยาปฏิชีวนะ ยาสมุนไพร และอุปกรณ์สำหรับการฟอกเลือด เป็นต้น
ภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และเภสัชภัณฑ์ของไทยในปี 64 มีมูลค่าส่งออกรวม 47,598.87 ล้านบาท อัตราการขยายตัว 15.48% และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมากรมฯ ได้คิดค้น พัฒนา และปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน ควบคู่กับการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพผู้ประกอบการผ่านรูปแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศในลักษณะ Mirror-Mirror จัดงานแสดงสินค้ารูปแบบไฮบริด โดยเฉพาะการจับคู่เจรจาการค้าระหว่างผู้ส่งออกกับผู้นำเข้าผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) เพื่อต้องการยกระดับมาตรฐานสินค้าเครื่องมือแพทย์และเภสัชภัณฑ์ไทยให้เป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 เม.ย. 65)
Tags: DITP, กระทรวงพาณิชย์, ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์, เครื่องมือแพทย์, เภสัชภัณฑ์