นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยกรณีข้อพิพาทบริเวณที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีการนำประเด็นไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยล่าสุด วันที่ 7 เม.ย. 65 นายสกลชัย ลิมป์สีสวรรค์ ทนายความอิสระ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง กรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมและพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่สั่งการให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์
โดยระบุว่ากรณีที่ดินบริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่มีการระบุว่า รฟท.ได้ฟ้องขับไล่ชาวบ้านนับ 100 ราย ที่เข้าอยู่อาศัยที่ดินรถไฟฯ บริเวณมักกะสัน แต่ รฟท.กลับไม่ดำเนินการฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินรถไฟฯ เขากระโดง เป็นพฤติกรรมเลือกปฎิบัติ และไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงมีประเด็นที่เกี่ยวข้องรัฐมนตรีที่มีบ้านพักอยู่ในที่ดินเขากระโดงของรฟท. ซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ระบุว่าจะนำเรื่องร้องเรียนที่กล่าวหานักการเมืองและเครือญาติบุกรุกและใช้ที่ดินรถไฟเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทั้งที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาว่าที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินของรัฐ โดยจะบรรจุเป็นวาระพิจารณา กมธ.ป.ป.ช.ปลายเดือนเม.ย.นี้
นายนิรุฒ เปิดเผยว่า รฟท. ยืนยันดำเนินการแก้ปัญหาที่ดินของรถไฟทั่วประเทศอย่างจริงจัง บนหลักการที่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด เสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ และโปร่งใสพร้อมทั้งยึดหลักธรรมาภิบาลและมีจริยธรรมอย่างเหมาะสม ที่ผ่านมามีการพูดถึงที่ดินเขากระโดง ซึ่งรฟท.ได้ชี้แจงมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีการนำข้อมูลบางประเด็นมากล่าวถึงซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และกระทบต่อความเชื่อมั่นของรฟท.ที่กำลังดำเนินการฟื้นฟูองค์กร
โดยกรณีปัญหามีประชาชนเข้าไปอยู่ในที่ดินของรถไฟ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การบุกรุกที่ดิน และ ผู้ถือเอกสารสิทธิ์ โดยมีการดำเนินการที่แตกต่างกัน เนื่องจาก กรณีเป็นผู้บุกรุกนั้นผิดกฎหมายและไม่มีสิทธิ์และไม่มีเอกสาร ดังนั้นรฟท.มีหน้าที่ดำเนินการได้ตามกฏหมาย โดยรฟท.ได้มีการเจรจากับผู้บุกรุก และเปลี่ยนสถานะจากผู้บุกรุกเป็นผู้เช่าที่ดิน และสร้างรายได้ให้รฟท. ซึ่งการบุกรุกที่ดินรถไฟมีปัญหากระทบ 3 ส่วนคือบ 1. บุกรุกแล้วทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการเดินรถ 2. บุกรุกแล้วเป็นแหล่งอาชญากรรม มั่วสุม 3. บุกรุกแล้วกีดขวางทางน้ำ ก่อให้เกิดน้ำท่วมขัง ดังนั้นรฟท.จะไม่ประนีประนอมกับการบุกรุก
ส่วนกลุ่มที่เป็นผู้ถือเอกสารสิทธิ์ ที่ทับซ้อนกับที่ดินรถไฟ เนื่องจากโฉนดที่ดินเป็นเอกสารราชการ ผู้ถือโฉนดที่ดิน ก็เชื่อมั่นในเอกสารราชการ จึงเป็นคำถามต่อมาว่า โฉนดที่ดินนั้น ออกถูกต้องหรือไม่ ซึ่งรฟท.จะไม่ระรานประชาชน กรณีถือเอกสารสิทธิ์ที่ทับซ้อนที่ดินรถไฟ อาจเกิดจากความเข้าใจผิดตั้งแต่ในอดีต ดังนั้นรฟท.จะไม่ปฎิบัติกับผู้ถือเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินรถไฟเหมือนกับกลุ่มบุกรุก
ปัจจุบัน มีผู้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินรถไฟฯ โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ทั่วประเทศ 18,822 ราย ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 1,538 ราย , 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 911 ราย ,นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ และจังหวัดอื่นๆ 3,045 ราย ,จังหวัดอื่นๆ 12,459 ราย
กลุ่มที่ดินมีข้อพิพาท มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อน ประชาชนถือเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยราชการ และอาศัยอยู่โดยสุจริต จำนวน 1,137 ราย ประกอบด้วย พังงา-ท่านุ่น 20 ราย, อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 15 ราย, บ้านโพธิ์มูล จ.อุบลราชธานี 2 ราย, เขากระโดงจ.บุรีรัมย์ 900 ราย ,พื้นที่อื่นๆ 200 ราย
โดยในการดำเนินการแก้ปัญหาที่ดินรฟท.นั้น มีคณะทำงานใน 3 ระดับ คือ 1. คณะทำงานในระดับรฟท. เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และจัดทำบัญชีรายชื่อ ชุมชุน และจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม 2. คณะทำงานในระดับกระทรวงฯมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน พิจารณาให้ความช่วยเหลือในระดับนโยบาย 3. คณะกรรมการระดับประเทศ มีรมว.คมนาคมเป็นประธาน
ส่วนกรณีที่ดินเขากระโดงนั้น เป็นกลุ่มที่ถือเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนนั้น นายนิรุฒกล่าวว่า มีกรณียื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีมติป.ป.ช.ให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466และ 8564 ตำบลอีสาณ อำเภอ เมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ ป.ป.ช.ไม่ได้มีคำสั่งให้ รฟท.ฟ้องประชาชน ประกอบกับมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ รฟท.ชนะคดี โดยศาลเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่ที่ รฟท.นำเสนอว่า พื้นที่เขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของรถไฟ แต่คำพิพากษาผูกพันเฉพาะคดีนั้นๆ จะเอาคำพิพากษาไปบังคับกับที่ดิน 5,083 ไร่ไม่ได้
โดยที่ดิน 5,083 ไร่ มีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ ประมาณ 900 รายแบ่งเป็น โฉนดที่ดิน จำนวน 700 ราย,ที่มีการครอบครอง (ท.ค.) จำนวน19 ราย, น.ส.3ก. จำนวน 7 ราย,หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) จำนวน 1 ราย, ทางสาธารณประโยชน์ จำนวน 53 แปลง, และอื่นๆ ที่ไม่ปรากกฏเลขที่ดินในระวางแผนที่อีก จำนวน 129 แปลง
โดยประชาชนถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยกรมที่ดิน ดังนั้น รฟท.ทำหนังสือถึงกรมที่ดินให้วินิจฉัยว่าการออกโฉนดเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ แต่เมื่อครบเวลา 60 วัน กรมที่ดินไม่ตอบ รฟท.จึงได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 2494/2564 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ฟ้องกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 1 และอธิบดีกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 2 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าไม่ดำเนินการตามที่การรถไฟฯ ร้องขอ และไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทับที่ดิน รฟ. ขอให้ศาลพิพากษาให้กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน ดำเนินการตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน และเพิกถอนคำสั่งออกเอกสารสิทธิ์ที่ทับที่ดินของการรถไฟฯ และขับไล่ผู้ครอบครอง และถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของ รฟ. ออกไปทั้งหมด โดย ศาลปกครองกลางได้รับฟ้อง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565
นายนิรุฒ กล่าวว่า คู่ความของ รฟท.คือกรมที่ดิน โดยยื่นศาลปกครองตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด 5,083 ไร่ ยืนยันว่า รฟท.จะดำเนินการนำที่ดินทั้งหมดกลับมาเป็นของ รฟท.แต่จะไม่ฟ้องประชาชน โดยรอคำพิพากษาของศาลปกครองมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดอย่างไร รฟท.พร้อมปฎิบัติตาม ซึ่งปัจจุบันรฟท.มีรายได้จากการให้เช่าที่ดินประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยที่ดินเขากระโดงหากนับจากวันที่มีคำพิพากษาศาลฎีกา ประเมินรายได้ที่ รฟท.สูญเสียประมาณ 700 ล้านบาท รวมกับดอกเบี้ยจนกว่าจะได้ข้อยุติ ซึ่งกระบวนการเรียกค่าเสียหายนี้จากกรมที่ดินแม้จะเป็นหน่วยงานของรัฐด้วยกันแต่ก็เป็นการดำเนินการเพื่อความถูกต้อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 65)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, ข้อพิพาท, นิรุฒ มณีพันธ์, รฟท.