น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ซึ่งได้อนุมัติโครงการศึกษาความปลอดภัย (Safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) และประสิทธิภาพ (Vaccine Efficiency) ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะ 2a โดยบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรอบวงเงิน 211 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 (การแพทย์/สาธารณสุข) ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม พ.ศ.2564
พร้อมทั้งมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด เร่งดำเนินการจัดทำแผนฉุกเฉิน (Contingency Plan) เพื่อเตรียมการสำหรับรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการทดสอบการฉีดวัคซีนในมนุษย์ภายในเดือน ก.ค.65 ตามแผนดำเนินโครงการ เพื่อให้สามารถดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณตามโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.65 รวมถึงจดทำแผนเร่งรัดการดำเนินโครงการในระยะที่ 3 เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์นับจากวันที่ ครม.ได้อนุมัติโครงการ
นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5 (2) (เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19) วงเงิน 211 ล้านบาทมาใช้เพื่อการนี้ตามมาตรา 5 (1) (เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19) เพื่อดำเนินโครงการศึกษาความปลอดภัยฯ ของสถาบันวัคซีนและบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ข้างต้น
ทั้งนี้ หลังจากการอนุมัติปรับปรุงการใช้งบประมาณครั้งนี้ทำให้วงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม พ.ศ.2564 เหลืออยู่ 74,250 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 500,000 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 65)
Tags: ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, วัคซีนโควิดจากพืช, ไตรศุลี ไตรสรณกุล