นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ต้องรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ดังนั้น ขอความร่วมมือประชาชน ก่อนเดินทางกลับบ้านต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทาง ทั้งตรวจ Antigen Test Kit (ATK) และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากกระจายทั่วประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยอาการหนักที่กำลังรักษาเพิ่มขึ้น และพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดคนในครอบครัวคนที่รู้จักกัน ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงจากการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ทานอาหาร ดื่มสุราด้วยกันระยะเวลานาน ทั้งในงานเลี้ยง ที่บ้าน ที่ทำงาน ในร้านอาหาร
จากการคาดการณ์ผลจากมาตรการป้องกันควบคุมโรคปี 65 เปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่, จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ, จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ และจำนวนผู้เสียชีวิต ภาพรวมในประเทศ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ฉากทัศน์ คือ
ฉากทัศน์ที่ 1 หรือสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คือ ผ่อนคลายมาตการป้องกันโรค ลดแยกกัก-กักตัว ฉีดวัคซีนทุกเข็มน้อยกว่า 200,000 โดสต่อวัน ประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนต่อมาตรการ Universal Prevention (UP)
-คาดจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงสุดในวันที่ 19 เม.ย. 65 อยู่ที่ประมาณ 100,000 ราย/วัน
-คาดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบพุ่งสูงสุดในช่วงวันที่ 3-5 พ.ค. 65 อยู่ที่ประมาณเกือบ 6,000 ราย/วัน
-คาดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ พุ่งสูงสุดในช่วงวันที่ 5-6 พ.ค. 65 อยู่ที่ประมาณ 1,600-1,800 ราย/วัน
-คาดจำนวนผู้เสียชีวิต ในช่วงวันที่ 3-5 พ.ค. 65 พุ่งสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 250 ราย/วัน
ฉากทัศน์ที่ 2 หรือสถานการณ์ปานกลาง คือ ยังคงมาตรการต่างๆ และประชาชนร่วมมือ ในระดับปัจจุบัน และคาดการณ์พบการแพร่โรคต่อเนื่องไปทุกจังหวัด จนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์
-คาดจำนวนผู้ติดเชื้อในวันที่ 19 เม.ย. 65 อยู่ที่ประมาณ 50,000 ราย/วัน
-คาดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบในช่วงวันที่ 3-5 พ.ค. 65 อยู่ที่ประมาณ 3,000 ราย/วัน
-คาดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ ในช่วงวันที่ 5-6 พ.ค. 65 อยู่ที่ประมาณ 800-1,000 ราย/วัน
-คาดจำนวนผู้เสียชีวิต ในช่วงวันที่ 3-5 พ.ค. 65 อยู่ที่ประมาณ 100-150 ราย/วัน
ฉากทัศน์ที่ 3 หรือสถานการณ์ที่ดีที่สุด คือ ผลจากการติดเชื้อเพิ่มช่วง ม.ค.-ก.พ. 65 และเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกันโรค มี.ค.-เม.ย. 65 ปฏิบัติได้ตามการเตือนภัยโควิด-19 ระดับ 4 คือ งดการรวมกลุ่ม ทำงานที่บ้าน (Work From Home: WFH) ชะลอเดินทาง และเร่งการฉีดวัคซีนมากขึ้นทุกเข็มเกิน 400,000 โดสต่อวัน และปฏิบัติตามมาตรการ VUCA อย่างเคร่งครัด
-คาดจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 ราย/วัน
-คาดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบในช่วงวันที่ 3-5 พ.ค. 65 อยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 ราย/วัน
-คาดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 400 ราย/วัน
-คาดจำนวนผู้เสียชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50 ราย/วัน
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยอยู่ที่ประมาณ ฉากทัศน์ที่ 3 หรือระดับที่คาดการณ์ไว้ว่าดีที่สุด คือยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 ราย/วัน ส่วนจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ ขณะนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ระหว่างระดับฉากทัศน์ที่ 3 และฉากทัศน์ที่ 2 ในส่วนของจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ สถานการณ์ขณะนี้ก็มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยอยู่ระหว่างฉากทัศน์ที่ 2 และฉากทัศน์ที่ 1 ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต ขณะนี้อยู่ในระดับฉากทัศน์ที่ 2
ในภาพรวมจากการประมาณเหตุการณ์พบว่า สถานการณ์การโควิด-19 ของไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงฉากทัศน์ที่ 2 หรืออยู่ในระดับกลางจากที่คาดการณ์ไว้ทั้งหมด โดยความร่วมมือของประชาชนยังคงอยู่ในระดับดี และหากสามารถคงมาตรการไว้ได้ ก็จะสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างต่อเนื่องถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้ หลังเทศกาลสงกรานต์ หากมีการรวมตัว ทำกิจกรรมโดยที่ไม่มีการเว้นระยะห่าง หรือมีการหย่อนยานมาตรการ จำนวนผู้ติดเชื้อก็จะเพิ่มสูงขึ้นได้
ดังนั้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงเน้นสื่อสารมาตรการป้องกันควบคุมโรค ด้วยมาตรการ Self Clean-up และ 2U ได้แก่ Universal Prevention (UP) จำเป็นต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ขณะต้องใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงวัย เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง รวมทั้งงดการทานอาหาร หรือเครื่องดื่ม ร่วมกับผู้สูงวัย หากจำเป็นให้ใช้เวลาน้อยที่สุด และ Universal Vaccination “ฉีดวัคซีนทุกกลุ่มอายุ” โดยเฉพาะผู้สูงวัย และกลุ่มโรคเรื้อรัง ให้ได้รับวัคซีนช่วงเทศกาลสงกรานต์
สำหรับข้อปฏิบัติหลังกลับจากเทศกาลสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน หากมีอาการสงสัยติดเชื้อ ให้ทำการตรวจ ATK หลีกเลี่ยงพบปะกับผู้คนจำนวนมาก ทั้งนี้ หากต้องพบผู้อื่น ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และให้พิจาณามาตรการ WFH เป็นไปตามความเหมาะสม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, โควิด-19, โอภาส การย์กวินพงศ์