นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 2-8 เม.ย. 65 พบสัดส่วนการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 อยู่ที่ 95.9% และ BA.1 อยู่ที่ 4.1% ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาวิจัยตรวจระดับภูมิคุ้มกันในคนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มและเข็ม 3 กระตุ้นห่าง 2 สัปดาห์ ต่อการลบล้างฤทธิ์ไวรัสโอมิครอน BA.1 และ BA.2 โดยเบื้องต้นพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มหรือ 3 เข็ม (เข็มกระตุ้น) จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโอมิครอน BA.2 สูงกว่า BA.1
อย่างไรก็ดี ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม นานเกิน 1 เดือน โดยเฉพาะวัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือ Viral Vector ควรได้รับเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโอมิครอน BA.2 โดยผู้ได้รับวัคซีนครบทุกสูตร 2 เข็มแล้ว ควรกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้เพิ่มขึ้น และป้องกันการเกิดโควิด-19 ได้ดีกว่าการได้รับเพียง 2 เข็ม
ดังนั้น กรมวิทย์ฯ ขอแนะนำให้ฉีดเข็ม 3 กระตุ้น (booster dose) โดยเร็ว ในคนที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยลดการนอนโรงพยาบาล การเกิดความรุนแรงถึงปอดอักเสบ ทั้งนี้ เน้นย้ำโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากพบอัตราการเสียชีวิตในระดับสูงในผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์
“ภูมิคุ้มกันสามารถลบล้างเชื้อ BA.2 ได้ดีกว่า BA.1 ในทุกสูตรการฉีดวัคซีน โดยผู้ที่ฉีด 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันจะขึ้นน้อยกว่า 3 เข็ม สอดคล้องกับผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ระบุว่า การฉีดวัคซีน 2 เข็มสามารถป้องกันได้น้อย ดังนั้น จึงแนะนำประชาชนเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และอย่าวิตกกังวลต่อ BA.2 ที่ระบาดแทนที่ BA.1 ในไทย เพราะผลการศึกษาชี้แล้วว่าภูมิของ BA.2 มากกว่า ในส่วนของผลการศึกษาเบื้องต้นนี้ จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันนี้ (11 เม.ย. 65)” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาดังกล่าว สามารถอธิบายสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยในขณะนี้ได้ว่า เนื่องจากประชาชนมีการฉีดวัคซีนทั้งเข็ม 2 และเข็ม 3 แล้ว ดังนั้น เมื่อพบการติดเชื้อโควิด-19 จึงไม่ค่อยแสดงอาการ เนื่องจากวัคซีนได้สร้างภูมิคุ้มกันกำจัดเชื้อในระดับหนึ่งแล้ว
“สำหรับผู้ที่ลังเลในการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้สูงอายุนั้น ผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนเกิดขึ้นได้น้อยมาก ซึ่งหากเจอ BA.2 อาจอันตรายกว่าหากยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. เปิดเผยผลการวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันมีทีมวิจัยจากอีกหลายประเทศที่มีผลการศึกษาสอดคล้องกัน พบว่า กรณีฉีดวัคซีน 2 เข็ม จะมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนไม่มากนัก ขณะเดียวกันภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ยังสูงกว่า BA.1 ส่วนกรณีบูสเตอร์เข็ม 3 ทั้งวัคซีนชนิดเดียวกัน หรือสูตรไขว้ จะมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนสูงขึ้นอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ก็ยังสูงกว่า BA.1 ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 เหมือนเป็นพี่น้องกัน แต่มีการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข, บัลลังก์ อุปพงษ์, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, โควิด-19