สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ปรับตัวขึ้น 8.3% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะขยายตัว 7.9%
การพุ่งขึ้นของดัชนี PPI สะท้อนให้เห็นว่า จีนยังคงเผชิญกับต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งปัญหาคอขวดด้านอุปทาน
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 1.5% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.2%
ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 1.1% ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลกยังคงถูกกดดันจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกิจกรรมในภาคการผลิต โดยผลสำรวจของมาร์กิตและไฉซินระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนมี.ค.ร่วงลงสู่ระดับ 48.1 จากระดับ 50.4 ในเดือนก.พ. โดยดัชนี PMI เดือนมี.ค.หดตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563
มอร์แกน สแตนลีย์ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2565 ลงเหลือ 4.6% จากระดับ 5.1% พร้อมกับคาดการณ์ว่า จีนจะยังคงใช้นโยบาย Zero-COVID ต่อไปอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 65)
Tags: CPI, จีน, ดัชนีราคาผู้บริโภค, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจจีน