นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินสถานการณ์โควิด-19 หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นสูงขึ้นอย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจึงเร่งขอให้ประชาชนทั่วประเทศฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
ทั้งนี้ ยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลดำเนินการฉีดให้ประชาชนมีความปลอดภัย แต่ยอมรับว่าในจำนวนผู้เข้ารับบริการอาจมีผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนได้
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการดูแลประชาชนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 และเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ รัฐบาลจึงได้มอบให้ สปสช. จัดระบบเพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 64 โดยตลอดระยะเวลาประมาณ 1 ปี สปสช. ทั้ง 13 เขตพื้นที่ได้เร่งพิจารณาและให้ช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีประชาชนที่ได้รับความเสียหายภายหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 8 เม.ย. 65 มีประชาชนยื่นคำร้องเพื่อขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นทั้งสิ้นจำนวน 17,171 ราย ในจำนวนนี้เข้าหลักเกณฑ์รับการช่วยเหลือจำนวน 14,034 ราย (81.73%) ไม่เข้าหลักเกณฑ์ฯ จำนวน 2,551 ราย (14.86%) และอยู่ระหว่างการรอพิจารณาจำนวน 586 ราย (3.41%) ซึ่งในจำนวนนี้มีการมียื่นอุทธรณ์คำร้อง 995 ราย โดย สปสช. ได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ แล้วทั้งสิ้น 1,710,258,900 บาท
สำหรับพื้นที่ยื่นคำร้อง 5 อันดับแรก ได้แก่ เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นคำร้องมากที่สุด จำนวน 2,811 ราย รองลงมาเขต 10 อุบลราชธานี จำนวน 1,984 ราย, เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 1,809 ราย, เขต 8 อุดรธานี จำนวน 1,651 ราย และเขต 9 นครราชสีมา 1,155 ราย
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า ผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง จำนวน 9,452 ราย (55.05%) ผู้มีสิทธิประกันสังคม จำนวน 4,061 ราย (23.65%) และผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ จำนวน 3,244 ราย (18.89%) นอกนั้นเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ
ในส่วนของการช่วยเหลือเบื้องต้น ผู้ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 มีอาการ อาทิ ไข้, ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน, มีผื่น คัน บวม, ปวดเวียนศีรษะ หน้ามืด, แน่นหน้าอก หายใจลำบาก, อาการชา, แขนขาอ่อนแรง, ภาวะแพ้รุนแรง (Phylaxis Shock) และเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรง ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ระดับ 1 อาการเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท จำนวน 9,938 ราย ขณะที่ในระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ หรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มีจำนวน 426 ราย และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท จำนวน 3,670 ราย
สำหรับผู้ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ 3 จุด คือ 1. หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด 2. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ 3. สปสช. เขตพื้นที่ทั้ง 13 สาขาเขต
ทั้งนี้ มีระยะเวลายื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับจากวันที่เกิดความเสียหายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยหลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขต ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนภาคประชาชน เป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่ และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์ และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย
“การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ตราบใดที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ เพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตลง โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เจ็บป่วยเรื้อรัง และผู้สูงอายุ ดังนั้น ขอให้ประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เข้ารับการฉีดวัคซีนตามมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุข”
เลขาธิการ สปสช. กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 65)
Tags: lifestyle, จเด็จ ธรรมธัชอารี, ฉีดวัคซีนโควิด, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, สปสช., แพ้วัคซีน