EIU แจงปท.เอเชียที่อาจได้ประโยชน์-ถูกกระทบจากสงครามยูเครน ไทยโดนด้วย

อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (Economist Intelligence Unit – EIU) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจระดับโลกเปิดเผยรายชื่อประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบและผลประโยชน์มากที่สุดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

EIU ระบุว่า หลายประเทศในเอเชียอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่ราคาอาหารไปจนถึงการท่องเที่ยวและการซื้อขายอาวุธ แม้ว่าประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงในสงครามก็ตาม

ราคาอาหารถือเป็นหมวดสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนอย่างมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างก็เป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก ขณะที่หลายประเทศในเอเชียจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่นปุ๋ย จากรัสเซีย และภาวะขาดแคลนที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็เป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรและธัญพืชพุ่งขึ้นอย่างมากในขณะนี้

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า EIU เปิดเผยรายงานคาดการณ์เกี่ยวกับประเทศเอเชียที่จะได้รับประโยชน์และได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนดังนี้ :

ประเทศที่จะได้ประโยชน์จากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

  • ประเทศที่ส่งออกถ่านหิน : ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, มองโกเลีย
  • ประเทศที่ส่งออกน้ำมันดิบ: มาเลเซีย, บรูไน
  • ประเทศที่จัดหาแร่นิกเกิล: อินโดนีเซีย, นิว แคลิโดเนีย
  • ประเทศที่จัดหาข้าวสาลี: ออสเตรเลีย, อินเดีย

ประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุดจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น (ลำดับเป็นเปอร์เซ็นต์การนำเข้าจากรัสเซีย/ยูเครนในปี 2563)

  • ปุ๋ย : อินโดนีเซีย (กว่า 15%), เวียดนาม (กว่า 10%), ไทย (กว่า 10%), มาเลเซีย (10%), อินเดีย (กว่า 6%), บังกลาเทศ (เกือบ 5%), เมียนมา (3%), ศรีลังกา (2%)
  • ธัญพืชจากรัสเซีย: ปากีสถาน (40%), ศรีลังกา (กว่า 30%), บังกลาเทศ (กว่า 20%), เวียดนาม (เกือบ 10%), ไทย (5%), ฟิลิปปินส์ (5%), อินโดนีเซีย (น้อยกว่า 5%), เมียนมา (น้อยกว่า 5%), มาเลเซีย (น้อยกว่า 5%)
  • ธัญพืชจากยูเครน: ปากีสถาน (เกือบ 40%), อินโดนีเซีย (กว่า 20%), บังกลาเทศ (เกือบ 20%), ไทย (กว่า 10%), เมียนมา (กว่า 10%), ศรีลังกา (เกือบ 10%), เวียดนาม (น้อยกว่า 5%), ฟิลิปปินส์ (5%), มาเลเซีย (5%)

ประเทศที่พึ่งพาอาวุธนำเข้าจากรัสเซียมากที่สุดในช่วงปี 2543-2563 (จัดอันดับเป็นเปอร์เซ็นต์)

มองโกเลีย (กว่า 100%), เวียดนาม (กว่า 80%), จีน (เกือบ 80%), อินเดีย (กว่า 60%), ลาว (กว่า 40%), เมียนมา (40%), มาเลเซีย (กว่า 20%), อินโดนีเซีย (กว่า 10%), บังกลาเทศ (กว่า 10%), เนปาล (กว่า 10%), ปากีสถาน (น้อยกว่า 10%)

รายงานของ EIU ยังได้กล่าวถึงผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเอเชีย โดยระบุว่า แม้เส้นทางการบินของเอเชียยังคงเปิดรับเที่ยวบินจากรัสเซีย แต่นักท่องเที่ยวจากรัสเซียก็อาจจะยังไม่เดินทางไปเยือน

“การท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้หลักของธุรกิจการบริการ โดยแม้ว่าเส้นทางการบินของเอเชียยังคงเปิดรับเที่ยวบินจากรัสเซีย แต่ชาวรัสเซียก็อาจจะยังไม่เดินทางไปท่องเที่ยวในเอเชียมากนัก เนื่องจากผลกระทบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันของรัสเซีย, ค่าเงินรูเบิลที่ทรุดตัวลง และการที่รัสเซียถูกตัดออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นระบบบริการชำระเงินระหว่างประเทศ”

EIU กล่าว

อย่างไรก็ดี EIU มองว่า ประเทศในเอเชียพึ่งพานักท่องเที่ยวจากรัสเซียน้อยมาก โดยยกตัวอย่างประเทศไทยซึ่งทำสถิติต้อนรับนักท่องเที่ยวจากรัสเซียจำนวนมากที่สุดในเอเชียถึง 1.4 ล้านคนในปี 2562 แต่ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 4% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทยในปีดังกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 65)

Tags: , , , ,