นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แม้ว่าปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ภาคใต้จะลดลงบ้างแล้วในบางพื้นที่ แต่ยังคงกำชับให้โครงการชลประทานในเขตสำนักงานชลประทานที่ 14-17 เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องเหมาะสม รวมถึงเน้นย้ำอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำ 80% ของความจุอ่างฯ ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทางภาคใต้ ให้บริหารจัดการตาม Rule curve ของแต่ละอ่าง ตามบริบททางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นๆ พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
นอกจากนี้ ให้ตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่รับทราบถึงสถานการณ์และปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำ รวมถึงแผนเพาะปลูกในพื้นที่ต่างๆ ที่สำนักงานชลประทานดูแลอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
สำหรับสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 46,974 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 62% ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 23,036 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 19,382 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,968 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 44% ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 4,272 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,382 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94% ของแผนฯ ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 65)
Tags: กรมชลประทาน, ประพิศ จันทร์มา, ฝนตก, ภาคใต้, สถานการณ์น้ำ, อ่างเก็บน้ำ