ปองสงวน จีระเดชากุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์รายงานของผู้บริโภคชาวไทยและชาวอินเดียของ Mintel เปิดเผยว่า เหตุการณ์ในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้ทิ้งรอยแผลและผลกระทบต่อชีวิตในด้านต่าง ๆ มากกว่าที่เราได้คาดการณ์ไว้ แม้โรคระบาดจะเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการใช้งานระบบดิจิทัลและทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโต แต่โรคระบาดถือเป็นอุปสรรคสำหรับการบริโภคอย่างยั่งยืนของกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย
“แม้ว่า โรคระบาดจะนำไปสู่ปัญหาทางการเงินในด้านต่าง ๆ เช่น หนี้สินภาคครัวเรือน การว่างงานที่สูงขึ้น ฯลฯ หากมองในมุมบวก เราก็จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคชาวไทยหันกลับมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคเพศหญิงยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซและบริการด้านอาหารอีกด้วย”
ปองสงวน กล่าว
ทั้งนี้ Mintel ได้เผยแพร่รายงานล่าสุดเกี่ยวกับผู้บริโภคชาวไทยปี 2565 โดยไฮไลต์ของรายงานฉบับนี้ คือ ทัศนคติของผู้บริโภคไทยที่มีต่อชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป และข้อเสนอแนะสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ที่ผนวกข้อมูลผู้บริโภค ข้อมูลการตลาดเชิงลึก และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
ผลการวิจัยล่าสุดของ Mintel ชี้ว่า ผู้บริโภคชาวไทยประมาณ 82% พยายามทำในสิ่งที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และบริการจัดส่งสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น เช่น จำนวนของเสียที่เกิดจากการดำเนินการดังกล่าว การปล่อยก๊าซพิษ และการบริโภคที่มากจนเกินไป ถือเป็นปัจจัยที่ขัดกับความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ปองสงวน กล่าวต่อไปว่า แบรนด์ควรจะลดข้อความที่สื่อถึงเรื่องความสะดวก ประโยชน์ต่อสุขภาพ และความคุ้มค่าลงบ้าง โดยหันมาสื่อสารข้อความเกี่ยวกับผลกระทบเชิงบวกที่เกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนบนบรรจุภัณฑ์หรือโซเชียลมีเดียให้มากขึ้น เพื่อชักชวนคนไทยให้หันมาประยุกต์ใช้ไลฟ์สไตล์ที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ หนี้สินภาคครัวเรือนเป็นปัจจัยที่กำลังกดดันสถานภาพทางการเงินของคนไทย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะย่ำแย่ลง จากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นและรายได้ที่ลดลง ผลการวิจัยของ Mintel พบว่า แม้ว่าผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ (73%) จะให้ความสำคัญกับกองทุนฉุกเฉิน แต่เรื่องของหนี้สินยังคงเป็นปัญหากวนใจ โดยคนไทย (52%) ที่อาศัยอยู่ในชนบท ให้ความสำคัญกับการชำระหนี้สิน
“ผลงานวิจัยของเรายังพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยสามารถมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นได้ หากเรามีเครื่องมือที่ดีพอที่จะช่วยเหลือในเรื่องการบริหารจัดการด้านการเงินและชำระหนี้ ในกรณีนี้แบรนด์สามารถช่วยผู้บริโภคได้ด้วยผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างรับผิดชอบ”
ปองสงวน กล่าว
รายงานยังระบุด้วยว่า ‘She-economy’ ในไทยกำลังมาแรง เนื่องจากในช่วงที่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ ผู้บริโภคเพศหญิงมีบทบาทสำคัญในการดันยอดอีคอมเมิร์ซของตลาดให้พุ่งสูงด้วยการเป็นผู้ซื้อสินค้าและใช้บริการจัดส่งอาหารออนไลน์และแอปพลิเคชันเป็นประจำ
รวมทั้งความตระหนักในเรื่องพลังของผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภค Gen Z และสาวยุคมิลเลนเนียลที่จะมาขับเคลื่อนการเลือกซื้อสินค้าประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องความงามตามธรรมชาติเพื่อคุณค่าและความมั่นใจในตัวเองก็เป็นประเด็นสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้บริโภคผู้หญิงกว่าครึ่งหรือ 51% ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้แบรนด์ต่าง ๆ ได้ผลักดันและสนับสนุนในเรื่องความงาม และประสบการณ์ด้านความงานเชิงบวกสำหรับผู้หญิง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 65)
Tags: Mintel, She-economy, ความเท่าเทียมทางเพศ, ปองสงวน จีระเดชากุล, ผลสำรวจ