ผลสำรวจใหม่จากเจมินี (Gemini) ผู้ให้บริการตลาดซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี พบว่า ผู้ถือสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีเกือบครึ่งหนึ่งในสหรัฐ, ละตินอเมริกา และเอเชียแปซิฟิก เริ่มถือสินทรัพย์คริปโทฯ เป็นครั้งแรกในปี 2564 โดยภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่สกุลเงินด้อยค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนหันมาเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดนี้
แบบสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นช่วงเดือนพ.ย. 2564 จนถึงเดือนก.พ. 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมเกือบ 30,000 คน จาก 20 ประเทศ จากจำนวนดังกล่าว ประเทศบราซิลและอินโดนีเซียมีผู้ถือสินทรัพย์คริปโทฯ มากที่สุดถึง 41% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดในประเทศ ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวคิดเป็น 20% ในสหรัฐ และ 18% ในสหราชอาณาจักร
เจมินีพบว่า 79% ของผู้ที่รายงานว่าถือคริปโทฯ เมื่อปีที่แล้ว ตัดสินใจซื้อเพื่อการลงทุนในระยะยาว ส่วนผู้ที่ปัจจุบันไม่ได้ถือสินทรัพย์คริปโทฯ และอาศัยอยู่ในประเทศที่สกุลเงินเสื่อมค่าลงนั้น มีแนวโน้มจะซื้อสินทรัพย์คริปโทฯ เพื่อป้องกันผลกระทบจากเงินเฟ้อมากกว่าผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้เกิน 5 เท่า
ตัวอย่างเช่น มีเพียง 16% ของผู้ตอบแบบสำรวจในสหรัฐ และ 15% ในยุโรปเท่านั้นที่เห็นด้วยว่า คริปโทเคอร์เรนซีใช้ป้องกันผลกระทบจากเงินเฟ้อได้ เมื่อเทียบกับ 64 % ในอินโดนีเซียและอินเดีย
นอกจากนี้ ยังมีเพียง 17% ของชาวยุโรปที่รายงานว่าถือสินทรัพย์คริปโทฯ ในปี 2564 และ 7% ของผู้ที่ไม่ได้ถือสินทรัพย์คริปโทฯ ในตอนนี้แสดงความตั้งใจว่าจะซื้อสินทรัพย์คริปโทฯ ในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 65)
Tags: Cryptocurrency, คริปโทเคอร์เรนซี, สกุลเงินดิจิทัล, สินทรัพย์ดิจิทัล, เงินเฟ้อ