บล.กรุงศรี เชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่ปรับนโยบายแม้จะมีเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แม้ว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อเกิดขึ้นอย่างชัดเจน หลังประเทศเศรษฐกิจหลักรายงานเงินเฟ้อในระดับสูงสุดในหลายทศวรรษ ราคาพลังงานที่ปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกสะดุดจากเงินเฟ้อในระดับสูง ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วเริ่มใช้มาตรการการเงินเข้มงวด
โดยมีมุมมอง hawkish มากขึ้น โดยเราจะเห็นการใช้นโยบายที่เข้มงวดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักรและแคนาดา แต่การใช้นโยบายที่เข้มงวดขึ้นในประเทศเหล่านี้สมเหตุสมผลเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กลับสู่หรือเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด พร้อมอัตราการจ้างงานและการใช้ทรัพยากรที่แข็งแกร่ง
ในช่วงเวลาทั่วไป ธนาคารกลางมักจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อรับมือเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบันซับซ้อนกว่าที่จะรับมือด้วยการปรับนโยบายทางด้านการเงินโดยตรง เป็นผลจากเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงต้นของการฟื้นตัวจากการระบาด และอุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแออยู่ (จากทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน) การรับมือเงินเฟ้อโดยการปรับดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้เกิดความผิดพลาดทางนโยบายได้ เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้นอาจกลายเป็นอุปสรรคของการฟื้นตัว
บล.กรุงศรี มองว่าสถานการณ์ในไทยจะแตกต่างออกไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังล่าช้าอยู่มาก ตัวชี้วัดเงินเฟ้อจากอุปสงค์ (demandpull inflation) ของเราสะท้อนว่าเงินเฟ้อของไทยมาจากต้นทุนเป็นหลัก (cost-push inflation) สะท้อนว่านโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีประสิทธิภาพน้อยลงในเหตุการณ์นี้
โดยในไทยเศรษฐกิจยังคงอยู่ต่ำกว่าแนวโน้มปกติ เช่น เศรษฐกิจเติบโตเพียง 1.6% yoy ในปีที่ผ่านเทียบกับระดับเฉลี่ย 3 ปีก่อนโควิดที่ 3.5% ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด 8.5% ในอีกด้านหนึ่งไทยมีเงินเฟ้อทั่วไปในระดับสูงสุดที่ 5.28% ในก.พ. ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่ปี 51
นอกจากนี้นโยบายดอกเบี้ยมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อใช้รับมือเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุน (cost-push inflation) อ้างอิงดัชนีเงินเฟ้อจากอุปสงค์ (demand-pull inflation index , figure 3) ของเรา จะเห็นได้ว่ายังไม่มีสัญญาณเงินเฟ้อจากอุปสงค์ นอกจากนี้ธปท. มีแนวโน้มปรับนโยบายก่อนที่จะเกิดเงินเฟ้อจากอุปสงค์ (figure 4)
อย่างไรก็ตาม คาดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะอ่อนลงในช่วงกลางปี จากเหตุผลดังนี้ 1. ผลของฐานเริ่มทรงตัว 2. คาดแรงกดดันด้านห่วงโซ่อุปทานจะลดลงต่อเนื่อง และ 3. โมเมนตัมธีมการเปลี่ยนจากภาคการผลิตเป็นภาคบริการดีขึ้น แม้จะยังมีความไม่แน่นอนสูงแต่พัฒนาการเชิงบวกของสถานการณ์รัสเซีย – ยูเครนอาจทำให้พรีเมียมราคาน้ำมันในช่วงสงครามลดลงในช่วงเวลาต่อมา ซึ่งจะลดแรงกดดันเงินเฟ้อลงอย่างมีนัยสำคัญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 65)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., บล.กรุงศรี, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย