น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ การค้า ค่าเงิน ตลอดจนการตั้งรับและการปรับตัวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยต่างได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ อาจไม่เป็นไปตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ไว้ที่ 4.4% เพราะเป็นการประเมินไว้ตั้งแต่ต้นปี 65 ที่ยังไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่หดตัวมากเท่ากับช่วงที่เผชิญกับการแพร่ระบาดโควิดในรอบแรกเมื่อปี 63
“เศรษฐกิจโลกเริ่มจะฟื้นตัว แต่พอมาเจอวิกฤตในยูเครน จากเดิมที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีในปีนี้ ก็อาจจะฟื้นตัวช้ากว่าที่ประมาณการไว้ที่ 4.4% เมื่อต้นปี” น.ส.กิริฎากล่าว
ทั้งนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ ก๊าซ แร่ธาตุ สินค้าเกษตรบางรายการ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อประเทศที่จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าพลังงาน อาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมี ซึ่งผลกระทบหลักๆ ที่ไทยได้รับจากความขัดแย้งของสองประเทศจะเป็นผลทางอ้อม คือ ราคานำเข้าสินค้าพลังงาน วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมีราคาสูงขึ้น โดยประเมินว่าราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปีนี้ แม้จะคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังราคาน้ำมันจะอ่อนตัวลงมาอยู่ไม่ถึง 100 ดอลลาร์/บาร์เรล และคงไม่ลดลงไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
“ช่วงครึ่งปีหลัง ราคาน้ำมันดิบอาจจะอยู่ที่ราวๆ 90-95-98 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งคงไม่ลงไปเท่ากับตอนก่อนมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะมองว่าปัญหาความขัดแย้งน่าจะเจรจากันได้ สถานการณ์ไม่แรงเท่ากับในช่วงแรกๆ และด้าน supply ก็เริ่มปรับตัวได้ เราจึงคาดว่าช่วงครึ่งปีหลัง ราคาน้ำมันน่าจะอ่อนตัวลงได้บ้าง” นางกิริฎา ระบุ
ส่วนผลกระทบทางอ้อมต่อไทยอีกเรื่อง คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากนักท่องเที่ยวรัสเซียที่หายไป รวมทั้งนักท่องเที่ยวจีนที่ยังมีข้อจำกัดในการเดินออกนอกประเทศ จากผลของนโยบาย Zero Covid ซึ่งทำให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในปีนี้ จะอยู่ที่เพียง 5 ล้านคน จากเดิมที่คาดไว้ราว 6 ล้านคน และเชื่อว่ากว่าที่จะกลับมาได้ 40 ล้านคนเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดนั้น จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี
นางกิริฎา ยังกล่าวถึงทิศทางค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยของไทยด้วยว่า จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากปัจจัยเรื่องราคาสินค้าและราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งปัจจัยการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อสูงนั้น คาดว่าเฟดมีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละครั้งรวมกันถึง 2% ภายในปีนี้ ในขณะที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและไทยห่างกันมาก และมีแนวโน้มที่จะเกิดการไหลออกของเงินทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของไทยเพื่อไปได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าในต่างประเทศ
แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าแม้จะมีเงินไหลออกไปต่างประเทศบ้าง แต่จะไม่กระทบต่อเสถียรภาพการเงินของไทยมากนัก เนื่องจากสัดส่วนของเงินทุนที่ไหลเข้ามาในไทยเพื่อการค้าและการลงทุนมีสัดส่วนที่สูงกว่าการเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรอยู่มาก เพียงแต่อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ในบางช่วง และในช่วงสิ้นปีเงินบาทคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ และน่าจะอ่อนค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งในส่วนนี้ผู้ส่งออกไทยจะได้ประโยชน์มากขึ้น
“เชื่อว่า กนง.คงยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ เพราะการที่เงินเฟ้อเราสูง มาจาก cost push ไม่ใช่ demand pull เหมือนในสหรัฐ ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยคงไม่ทำให้เงินเฟ้อลดลง ส่วนจะห่วงว่าเมื่อไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้วเงินจะไหลออกมากเพราะไปกินดอกเบี้ยสูงๆ ในต่างประเทศนั้น ก็ไม่น่ากังวลมาก เพราะสัดส่วนของเม็ดเงินที่เข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในไทยยังเล็ก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของเม็ดเงินที่เข้ามาเพื่อการค้าและการลงทุนจริงๆ แม้จะมีเงินไหลออกบ้าง แต่ก็ไม่กระทบเสถียรภาพการเงินไทย”
น.ส.กิริฎา กล่าว พร้อมมองว่า กนง.อาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วสุดในช่วงต้นปี 66
ด้านอัตราเงินเฟ้อนั้น คาดว่าจะขึ้นไประดับสูงสุดในช่วงครึ่งปีแรกและจะเริ่มชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยทั้งปีอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 4-4.5% ซึ่งบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ลดลงไปบ้าง ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด
ส่วนการส่งออกนั้น เชื่อว่าจะยังเป็นพระเอกหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แม้จะเติบโตได้ไม่เท่ากับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกจะเติบโตได้ราว 5% เนื่องจากปีนี้หลายประเทศต่างได้รับผลกระทบจากปัญหารัสเซีย-ยูเครน การระบาดของไวรัสโควิดที่ยังคงมีอยู่ ทำให้กำลังซื้อยังไม่กลับไปเท่าเดิม ซึ่งจากสถานการณ์ทั้งหมด ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ราว 3% ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 3.5-4%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 65)
Tags: TDRI, กิริฎา เภาพิจิตร, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจโลก, เศรษฐกิจไทย