น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจมาตรการส่งออกผลไม้ทางเรือ ณ ศูนย์เอ็กเรย์สินค้า ด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ว่า ก่อนจะเข้าสู่ฤดูกาลส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกในปี 2565 ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจสอบและตรวจรับรองสินค้า ภายใต้มาตรการควบคุมเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวที่สวน การคัดบรรจุ ตลอดจนการส่งออก ซึ่งต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเพื่อขอใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phyto certificate) โดยกรมวิชาการเกษตร ได้นำระบบขอใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e Phyto Certificate) มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.65 นำร่องระบบใช้กับผลไม้ 22 ชนิดไปจีน เพื่อรองรับฤดูกาลส่งออกผลไม้ภาคตะวันออก เป็นการสร้างความมั่นใจในการผลิตสินค้าคุณภาพที่มาจากแปลงเกษตรที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตที่ดี สามารถตรวจสอบย้อนกลับ และสร้างความน่าเชื่อถือให้ประเทศผู้นำเข้าได้ รวมทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ
โดยตั้งแต่เดือน ก.พ.65 เป็นต้นมา มีการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนประมาณ 6,238 ชิปเมนท์ ปริมาณ 177,522.78 ตัน มูลค่าประมาณ 3,390 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออกทางเรือประมาณ 62% ทางบก 26% และทางอากาศ 12%
นอกจากนี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ยังได้มอบนโยบายและย้ำให้เจ้าหน้าที่ของด่านตรวจพืชปฏิบัติตามเงื่อนไขกฎระเบียบ ประกาศ และกฎหมายที่กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ตามคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานของด่านตรวจพืชให้ชัดเจน ครอบคลุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขออนุญาต การตรวจสอบสินค้า การตรวจปล่อยร่วมกับหน่วยงานศุลกากรในพื้นที่ รวมถึงการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้า เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงศัตรูพืชที่อาจจะติดมากับสินค้านำเข้าแพร่กระจายและทำความเสียหายกับแปลงผักผลไม้ แปลงเกษตรไทย หรือผลผลิตทางการเกษตร ศัตรูพืชที่สำคัญ เช่น ด้วงอิฐ ซึ่งได้เน้นย้ำให้ด่านตรวจพืชทุกด่านต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยในปี 2565 มีการนำเข้าผ่านทางด่านตรวจพืชทั่วประเทศ ในกลุ่มพืชและผลผลิตพืช ปริมาณ 78,663 ชิปเมนท์ คิดเป็นมูลค่า 67,709 ล้านบาท (ม.ค.-มี.ค.65)
“นายกรัฐมนตรีฯ ห่วงใยเกษตรกร โดยเฉพาะในเรื่องผลไม้ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้วางมาตรการเข้มในการนำเข้า-ส่งออก ในทุกๆ ด่านซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากปล่อยให้มีผลไม้สวมสิทธิ์ GAP (มาตรฐานการผลิตพืชที่ดีและเหมาะสม) ออกไป จะทำให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของผลไม้ไทยเสียหาย กระทรวงเกษตรฯ จะพยายามผลักดันให้สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพส่งออกไปให้ได้มากที่สุด โดยจะร่วมมือกับกรมศุลกากร และกระทรวงสาธารสุข ดำเนินการตรวจป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อรับรองความปลอดภัยของสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตาม มีความกังวลในเรื่องการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรบริเวณชายแดน ซึ่งจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดด้วยเช่นกัน และขอชื่นชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ ตรวจสอบอย่างเข้มงวด ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง”
น.ส.มนัญญา กล่าว
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมการนำเข้าพืช ผลผลิตพืช ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phyto Certificate) เพื่อรับรองการปลอดโรคแมลง ศัตรูพืช สำหรับสินค้าส่งออก ตามเงื่อนไขประเทศปลายทาง
โดยในปี 2564 มีการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จำนวนทั้งสิ้น 66,166 ฉบับ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน ลำไยสดและอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็ง เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง ข้าวสาลี แอปเปิ้ล ข้าวบาร์เลย์เพื่อผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 65)
Tags: GAP, กรมวิชาการเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, มนัญญา ไทยเศรษฐ์, ส่งออกผลไม้, เกษตรกร