นางเจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยในวันอังคาร (8 มี.ค.) ว่า สหรัฐจะไม่กดดันให้เหล่าพันธมิตรออกคำสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันและพลังงานของรัสเซียเช่นเดียวกันกับสหรัฐ
ทั้งนี้ นางแกรนโฮล์มให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า “สหรัฐไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำมันรัสเซียมากนักและเราไม่ได้พึ่งพาก๊าซของรัสเซียแม้แต่น้อย แต่เราทราบดีว่าพันธมิตรทั่วโลกของเราอาจไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกัน ดังนั้น เราจึงไม่ขอให้พวกเขาดำเนินการเช่นเดียวกับเรา”
นอกจากนี้ นางแกรนโฮล์มระบุด้วยว่า สหรัฐได้ทำการหารือกับประเทศต่าง ๆ เรื่องการระบายน้ำมันจากคลังสำรองทั่วโลกเพิ่มเติม
“เราอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรของเรา อย่างที่ทุกท่านทราบ เราเพิ่งระบายน้ำมันจากคลังสำรอง 60 ล้านบาร์เรลภายใต้แผนการที่ดำเนินการร่วมกับสำนักงานพลังงานสากล (IEA)” นางแกรนโฮล์มกล่าว
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ประกาศห้ามนำเข้าน้ำมันและพลังงานประเภทอื่น ๆ จากรัสเซียโดยมีผลบังคับใช้ทันที เพื่อเป็นการตอบโต้กรณีรัสเซียรุกรานยูเครน
การออกคำสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันและพลังงานชนิดอื่น ๆ ของรัสเซียจะกดดันให้ราคาพลังงานของสหรัฐพุ่งสูงขึ้นไปอีก แต่ปธน.ไบเดนระบุว่า สหรัฐจำเป็นต้องลงโทษประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียโทษฐานโจมตียูเครน
ขณะที่สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สหราชอาณาจักรประกาศจะยุติการนำเข้าน้ำมันรัสเซียภายในสิ้นปี 2565 โดยนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันยอมรับว่า การดำเนินการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อรัสเซียในทันที แต่เสริมว่า “สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการจะเพิ่มแรงกดดันให้กับรัสเซียมากยิ่งขึ้น”
น้ำมันและผลิตภัณฑ์กลั่นประมาณ 8% ของสหรัฐนำเข้ามาจากรัสเซีย ขณะที่น้ำมันจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของการนำเข้าน้ำมันของสหราชอาณาจักร
ในทางตรงกันข้ามสหภาพยุโรป (EU) ต้องพึ่งพาพลังงานของรัสเซียสูงกว่ามาก ดังนั้น EU จึงคัดค้านการคว่ำบาตรดังกล่าว แต่คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ระบุว่าจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนและขยายขีดความสามารถในการผลิตพลังงานสะอาดให้รวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่ออุดช่องว่าง โดยตั้งเป้าผลักดันให้ยุโรปเป็นอิสระจากเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซียก่อนปี 2573
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 65)
Tags: กระทรวงพลังงานสหรัฐ, น้ำมัน, พลังงาน, รัสเซีย, สหรัฐ, เจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม