นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และรองหัวหน้าพรรค กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านระบุว่าอาจมีการชิงยุบสภาหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่จะคิดไปได้ว่านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาจชิงยุบสภาหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนเปิดประชุมสภาในวันที่ 22 พ.ค.
อย่างไรก็ดีตนเชื่อว่านายกรัฐมนตรีไม่คิดยุบสภาเพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะถ้าดูจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาหลายครั้ง ฝ่ายค้านไม่ได้มีข้อมูลเชิงลึกที่จะสร้างผลสะเทือนกระทบต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล ถึงแม้จะมีการอภิปรายถึงประเด็นการทุจริตก็เป็นข้อมูลที่พยายามเชื่อมโยงให้สังคมเห็นว่าน่าจะมีการทุจริตมากกว่า
นอกจากนั้นก็จะเป็นการอภิปรายถึงการบริหารงานที่ผิดพลาดบกพร่องตามมุมมองของฝ่ายค้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายสามารถชี้แจงนำข้อมูลมาหักล้างคำอภิปรายได้เป็นส่วนมาก หลายประเด็นที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาอภิปราย ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการล้มรัฐบาล ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งหน้า ช่วงปีสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรเป็นแบบอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทั้งคณะ เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจกลายเป็นเวทีให้รัฐมนตรีมีโอกาสชี้แจงแถลงผลงานด้วยซ้ำไป
ตนเชื่อว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพร้อมรับมือกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นหลังเปิดสภา ไม่คิดยุบสภาหนีการซักฟอกแต่อย่างใด
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวตอบคำถามว่าได้มีการประเมินอายุ และเสถียรภาพของรัฐบาล ไว้อย่างไรหรือไม่นั้นว่า เสถียรภาพของรัฐบาลขึ้นอยู่กับ 2 ส่วนในภาพหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลผสม เพราะฉะนั้นส่วนที่ 1 ก็จะขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกันในคณะรัฐบาล ในฐานะฝ่ายบริหารในคณะรัฐมนตรี ส่วนที่ 2 คือการปฏิบัติภารกิจในฝ่ายนิติบัญญัติ คือในสภาผู้แทน กับรัฐสภา ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ก็จะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองที่มาร่วมรัฐบาลด้วยกันทั้งคู่ ใน ครม. ก็มีหลายพรรค ในสภาก็มีหลายพรรค เฉพาะซีกรัฐบาลก็มีหลายพรรค
“เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกัน การมีกลไกการทำงานร่วมกันที่เข้มแข็ง การประสานงานที่ดี การพินิจพิจารณาตัดสินปัญหาต่างๆ ร่วมกันอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ผมคิดว่าจะมีส่วนทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพทั้งใน ครม. ในคณะรัฐบาล และในสภา ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับ 2 กลไก โดยสภาจะมีวิปรัฐบาล ใน ครม. ท่านนายก ก็คงต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในฐานะผู้นำรัฐบาล และมีหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคแกนนำ หรือพรรคร่วมก็จะต้องเป็นกลไกหลักในการทำงานร่วมกัน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ต่อคำถามที่ว่าจนถึงวันนี้สัญญาณการยุบสภา ก็ยังไม่เกิดขึ้นตามกระแสข่าว ซึ่งเรื่องนี้นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ เรื่องนี้มีแต่คนคาดการณ์ว่าจะมีหรือไม่มี ทั้งหมดขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงปิดสมัยประชุม ตนยังไม่คิดว่าจะมีอะไรในลักษณะที่จะนำไปสู่การยุบสภา แต่ก็ต้องติดตามตอนช่วงเปิดสมัยประชุมอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร และการยุบสภาทั้งหมดก็ต้องกลับมาสูตรเดิม ว่าเป็นอำนาจนายก ดังนั้นก็อยู่ที่ท่านนายกด้วยว่าจะคิดอย่างไร
ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่านายกจะยุบสภาเพื่อหนีการซักฟอกนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เรื่องนี้ตนตอบล่วงหน้าไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบว่าฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายเมื่อไหร่ อย่างไร เพียงแต่มีการโหมโรงว่าจะยื่น แต่จะยื่นตอนไหน อย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มี.ค. 65)
Tags: จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, พรรคประชาธิปัตย์, ยุบสภา, องอาจ คล้ามไพบูลย์, อภิปรายไม่ไว้วางใจ