นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เกษตรกรรมยั่งยืนวิถีในเมือง จาก Post Covid-19 สู่ Next Normal” ในงานสัมมนาเกษตรอินทรีย์วิถีในเมือง จัดโดยสำนักงานสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เล็งเห็นความสำคัญการแก้ไขปัญหาภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในเมือง จึงได้จัดตั้งและเดินหน้าโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง โดยมีวัตถุประสงค์ 6 ประการ
ได้แก่ 1. การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง 2. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 3. การลด PM 2.5 และลดก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) 4. การเพิ่มคุณภาพอากาศ 5. การอัพเกรดคุณภาพชีวิตของประชาชน 6. การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลก
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายในปี 65” โดยการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 60-64) มีโครงการเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งสิ้น 342 โครงการ เพื่อมุ่งสู่การเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย รวมถึงมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ต่อปี
อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าในปี 64 มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน (ภาครัฐและภาคเอกชน) อยู่ที่ 1.51 ล้านไร่ มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จำนวน 95,752 ราย เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ กำลังขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ 66-70 ประกอบด้วย ประเด็นการพัฒนา ได้แก่ 1. ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ 2. พัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ 3. ยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ และ 4. พัฒนาการตลาด และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์
สำหรับในปี 65 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณ 851.10 ล้านบาท ดำเนินการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวม 94 โครงการ ประกอบด้วย แผนการส่งเสริม วิจัย พัฒนานวัตกรรม ฐานข้อมูล และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ รวม 48 โครงการ งบประมาณ 176.83 ล้านบาท พัฒนาการผลิตและการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ รวม 21 โครงการ งบประมาณ 552.00 ล้านบาท และพัฒนาการตลาด การบริการ และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวม 25 โครงการ งบประมาณ 122.27 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มี.ค. 65)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, อลงกรณ์ พลบุตร, เกษตรกรรมยั่งยืน, เกษตรอินทรีย์