รศ.นพ.สุพจน์ พงศ์ประสบชัย รองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ฝ่ายการศึกษาระดับหลังปริญญา เปิดเผยว่า ความต้องการอายุรแพทย์ว่า สำหรับประเทศไทย จำนวนและอัตราการผลิตอายุรแพทย์ของโรงเรียนแพทย์ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพของคนไทย ปัจจุบันมีที่นั่งสำหรับอายุรแพทย์ทั่วไปปีละประมาณ 370 ที่นั่ง โดยที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รับได้ปีละ 51 ตำแหน่ง ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่ายังมีตลาดอีกมากสำหรับอายุรแพทย์
รองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ฝ่ายการศึกษาระดับหลังปริญญา กล่าวว่า อายุรแพทย์ทั่วไป อบรม 3 ปี ปัจจุบันกระจายอยู่ในโรงพยาบาลขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ทั่วประเทศ อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคหลัก ๆ เช่น หัวใจ ปอด ทางเดินอาหาร ไต ประสาท อาจจะกระจายอยู่ในเมืองหลวงหรือหัวเมืองใหญ่ ๆ เช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ หาดใหญ่ ขอนแก่น ฯลฯ แต่อายุรแพทย์อีกหลายสาขา เช่น ต่อมไร้ท่อ มะเร็ง โรคเลือด หรือแม้แต่อายุรแพทย์ที่ดูแลเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม มักจะอยู่ที่ส่วนกลางหรือโรงเรียนแพทย์ ดังนั้น การมีอายุรแพทย์ทั่วไปและอายุรแพทย์เฉพาะทางจึงเป็นส่วนที่ช่วยส่งเสริมการรักษาคนไข้ให้เข้มแข็งมากขึ้น
“สำหรับการฝึกอบรมหมอ MED หรือหมออายุรกรรม ทันทีที่เข้าสู่การอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้าน เขาเป็นหมอเต็มตัว รุ่นน้องหรือนักศึกษาแพทย์จะมาเรียนกับเขา แพทย์ประจำบ้านจะเรียนแบบเป็นผู้ใหญ่ รูปแบบการฝึกจะเป็นแบบ on the job training คือเรียนจากการทำงาน”
รองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ฝ่ายการศึกษาระดับหลังปริญญา กล่าว
ทางด้านรศ.นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า อายุรศาสตร์ (Internal Medicine) เป็นศาสตร์แห่งการดูแลผู้ป่วย จากปัญหาอาการต่าง ๆ สู่การวินิจฉัยและรักษา โดยมองโรคที่เกิดขึ้นภายในร่างกายอย่างเป็นระบบองค์รวม อายุรศาสตร์จึงเป็นศาสตร์พื้นฐานที่แก้ปัญหาให้ผู้ป่วย และหมอที่รักษาโรคทางอายุรศาสตร์เรียกว่า “อายุรแพทย์” สถานที่ทำงานคือในแผนกอายุรกรรม
“อธิบายง่ายๆ ว่าอายุรแพทย์คือหมอที่ดูแลในการวิเคราะห์โรค ค้นหาสาเหตุของโรค ซึ่งทำได้จากประวัติและการตรวจร่างกาย หรือต้องใช้การตรวจพิเศษอย่างอื่น เช่น ตรวจเลือด ตรวจทางรังสีและอัลตราซาวน์ การเจาะน้ำหรือเนื้อเยื่อจากอวัยวะที่เป็นโรค เป็นต้น เมื่อวินิจฉัยได้แล้วก็รักษาโดยการใช้ยา หรือการทำหัตถการบางอย่าง เช่น การส่องกล้อง การสวนหัวใจ หรือต้องปรึกษาแพทย์สาขาอื่นมาช่วยกันรักษา เช่น ศัลยแพทย์ หรือรังสีแพทย์ เป็นต้น ที่ทำงานของอายุรแพทย์จึงเป็นห้องตรวจผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วย ไอซียู และพื้นที่สำหรับสำหรับการรักษาจำเพาะต่างๆ เช่น ห้องสวนหัวใจ เป็นต้น กล่าวได้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาโรงพยาบาลจะพบอายุรแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น รพ.ศิริราช ให้บริการคนไข้นอกประมาณ 2 ล้านคนต่อปี พบมีคนไข้ที่มาห้องตรวจอายุรศาสตร์ประมาณ 4 แสนคน มาพบแพทย์เวรหรือห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นปัญหาด้านอายุรศาสตร์อีกประมาณ 1 แสนคน รวมคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการทั้งหมดน่าจะราว 7 แสนคน ซึ่งก็คือ 1 ใน 3 ของคนไข้ศิริราชทั้งหมด”
“ความรู้ทางอายุรศาสตร์มีตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับลึก นักศึกษาแพทย์จะได้รับการสอนอายุรศาสตร์พื้นฐานซึ่งเมื่อจบปีที่ 6 เขาจะสามารถวินิจฉัยโรคง่ายๆ ที่ไม่มีความซับซ้อนสามารถรักษาคนไข้ทั่วไปได้ ความรู้นี้จะเป็นพื้นฐานหลักคิดเมื่อพวกเขาไปเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น แต่ถ้าแพทย์สนใจในการดูแลผู้ป่วยที่ยากซับซ้อนขึ้น เขาจะต้องกลับมาฝึกอบรมเพิ่มเติมในหลักสูตรของอายุศาสตร์ เพื่อเป็นอายุรแพทย์ และถ้าอายุรแพทย์ต้องการความรู้เพิ่มเติมจำเพาะอวัยวะ เขาสามารถเข้ามาฝึกอบรมต่อยอดขึ้นไปอีกการเป็นอายุรแพทย์จำเป็นต้องศึกษาเชิงลึกในความผิดปกติในโรคระบบต่าง ๆ ดังนั้นจึงต้องกลับมาอบรมเพิ่มเติมอีก ตัวอย่างเช่น เป็นอายุรแพทย์โรค โรคปอด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น”
หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 65)
Tags: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ศิริราช, สุพจน์ พงศ์ประสบชัย, หมอ, อายุรแพทย์, โรงพยาบาล, ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล