นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีรายงานทางสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็น เรื่องกินคอไก่ ปีกไก่ และหัวไก่ จะมีสารพิษ เมื่อกินสะสมจะเสี่ยงอันตรายต่อร่างกายนั้น กรมฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว สรุปว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งการนำเสนอข้อมูลเท็จนี้ สามารถสร้างความตื่นตะหนกให้แก่ประชาชนผู้บริโภคเนื้อไก่ได้ และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ที่เป็นผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกรายใหญ่ของโลกได้
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ กรมฯ จึงเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้บริโภค และให้ทุกหน่วยงานกำกับดูแลสินค้าปศุสัตว์ให้มีความปลอดภัยอาหาร รักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ ที่ได้รับการรับรองจากกรมฯ อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้กำกับดูแลระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดทั้งกระบวนการผลิต ตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP (Good Agricultural Practices) โรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย มีกระบวนการผลิตที่ถูกสุขอนามัย สถานที่จำหน่ายที่ได้มาตรฐาน จนถึงมือประชาชนผู้บริโภค
ดังนั้น ประชาชนจึงสามารถมั่นใจได้ว่า สินค้าปศุสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมฯ มีการตรวจสอบ และกำกับดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิต ไม่มีสารอันตรายตกค้าง ไม่มีฮอร์โมน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีแหล่งที่มาชัดเจน มีเจ้าหน้าที่ตรวจโรคสัตว์ก่อนเข้าโรงฆ่าสัตว์ และหลังออกจากโรงฆ่าสัตว์ มีการสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ ทั้งด้านสารตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์
สำหรับประเด็นที่ระบุว่า กินไก่ ส่วนคอไก่ ปีกไก่ และหัวไก่ ทำให้ได้รับสารพิษสะสมในร่างกายเกิดอันตรายนั้น ทางข้อมูลทางวิชาการต้องขอชี้แจงว่า ไก่เป็นสัตว์ปีก ที่ไม่มีต่อมน้ำเหลือง แต่จะมีต่อม Thymus ที่คอ และ Bursa of fabricius ที่ปลายลำไส้ ซึ่งทำหน้าที่แทนต่อมน้ำเหลืองในช่วงแรก และจะฝ่อไปเมื่อไก่โตขึ้น โดยเมื่อไก่โตขึ้น ระบบต่อมน้ำเหลืองในไก่จะเป็นลักษณะเนื้อเยื่อที่อยู่ในทางเดินอาหาร (gut associated lymphoid tissue)
“เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการสะสมของเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่คอไก่ และหัวไก่ ไม่สามารถสะสมสารพิษได้ เนื่องจากไก่ไม่มีต่อมพิษที่หัว และไก่ยังมีตับและไตที่ทำหน้าที่กำจัดสารพิษออกจากร่างกายเหมือนกับมนุษย์ด้วย โดยปกติคอไก่จะมีต่อมไทรอยด์ และต่อมพาราไทรอยด์ ซึ่งตามโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานจะมีการตัดเอาต่อมพวกนี้ และหลอดลมออกก่อนมาจำหน่ายอยู่แล้ว”
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
ส่วนประเด็นที่ระบุว่า ไก่มีฮอร์โมนนั้น ประเทศไทยมี พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 ที่กำหนดห้ามให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนสเตียรอยด์และฮอร์โมนเพศหญิง เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของสัตว์ ซึ่งกรมฯ มีการเก็บตัวอย่างเพื่อสำรวจสารตกค้างในเนื้อสัตว์เป็นประจำทุกปี โดยจากผลการตรวจสอบตรวจพบว่าไม่มีการใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโตในเนื้อไก่แน่นอน
นอกจากนี้ ได้มีการเก็บตัวอย่างทั้งเนื้อไก่และเครื่องในตรวจหาสารตกค้างต่างๆ รวมถึงฮอร์โมนทั้งที่ฟาร์มและโรงฆ่าสัตว์ ดำเนินการมามากกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งผลจากการตรวจวิเคราะห์ฮอร์โมนกลุ่ม Stilbenes (diethylstilbestrol, dienestrol, hexestrol) 5 ปีย้อนหลัง (ปี 60-ปัจจุบัน) รวมจำนวนกว่า 2,505 ตัวอย่าง ทั้งหมดไม่พบสารตกค้างของฮอร์โมน ขณะเดียวกัน ยังไม่พบรายงานการติดพยาธิจากการบริโภคเนื้อไก่ เนื่องจากพยาธิต้องการมีความจำเพาะต่อร่างกายของโฮสต์ แต่ร่างกายของมนุษย์ไม่มีความจำเพาะต่อพยาธิที่ติดในไก่ จึงทำให้ไม่เคยมีรายงานการติดพยาธิจากการบริโภคไก่มาก่อน
“ขอให้ประชาชนมั่นใจเนื้อไก่ รวมทั้งคอไก่ ปีกไก่ และหัวไก่ที่จำหน่ายในไทยยังมีความปลอดภัยรับประทานได้ตามปกติ ไม่มีสารตกค้าง ไม่มีฮอร์โมน และแนะปรุงสุกก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดีและความปลอดภัยอาหาร และเพื่อเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าปศุสัตว์ ให้สังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ประชาชนผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า สินค้าปศุสัตว์ที่กรมฯ ให้การรับรองนั้น มีมาตรฐานการผลิตที่ถูกสุขอนามัย มีความปลอดภัยอาหารเหมาะสมแก่การบริโภค ปลอดจากสารตกค้าง และที่สำคัญมีแหล่งที่มาชัดเจน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิตแน่นอน”
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มี.ค. 65)
Tags: กรมปศุสัตว์, สรวิศ ธานีโต, ไก่