ขณะนี้เวลาล่วงเลยมาเกือบสัปดาห์แล้วนับตั้งแต่ที่รัสเซียเริ่มเปิดฉากบุกโจมตียูเครนในช่วงเช้าของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยส่งกองทัพภาคพื้นดินรุกคืบเข้าใกล้กรุงเคียฟของยูเครน ทั้งยังมีการทิ้งขีปนาวุธและระเบิดในหลายพื้นที่ จนทำให้ประชาชนยูเครนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
สถานการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ชาติตะวันตกต่างออกมาประณามการกระทำของรัสเซีย พร้อมส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และเงินทุนช่วยเหลือให้กับยูเครน และที่สำคัญคือมีการประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรที่ครอบคลุมรอบด้านและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยมีมา โดยหวังที่จะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างหนักเพื่อบีบให้หมีขาวต้องยอมถอยทัพ หรืออย่างน้อยก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการเจรจา
In Focus ในสัปดาห์นี้จึงจะพาผู้อ่านไปทบทวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เล่นสำคัญรายใดบ้างที่เข้าร่วมขบวนการคว่ำบาตรครั้งนี้ และเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างไร
มหากาพย์การคว่ำบาตรรัสเซียจากรัฐบาลชาติตะวันตก
สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป (EU) เปิดฉากการคว่ำบาตรรัสเซียด้วยการอายัดทรัพย์สินของบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน, นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ, นายเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหม ไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ มหาเศรษฐี และผู้บริหารระดับสูงของวิสาหกิจรายใหญ่
เป้าหมายของมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวไม่ได้หยุดอยู่เพียงระดับบุคคล แต่สถาบันการเงินของรัสเซียก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน โดยเมื่อวันจันทร์ (28 ก.พ.) ที่ผ่านมา รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซียในสหรัฐ อีกทั้งชาติตะวันตกยังได้ร่วมกันการขัดขวางไม่ให้ธนาคารกลางรัสเซียใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ
หนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่อาจกล่าวได้ว่าร้ายแรงที่สุดก็คือ การประกาศตัดธนาคารรัสเซียบางแห่งออกจากระบบ SWIFT ที่เป็นตัวกลางสำหรับการโอนเงินข้ามประเทศ ทำให้ธนาคารในรัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารของประเทศอื่น ๆ ได้ ซึ่งได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น ในระดับอุตสาหกรรม รัสเซียอาจไม่สามารถขายน้ำมันและพลังงานที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญให้ต่างประเทศ และสำหรับประชาชนชาวรัสเซีย แม้แต่กิจวัตรประจำวันธรรมดา ๆ อย่างการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตก็อาจทำไม่ได้อีกต่อไป
นอกจากการสร้างแรงกดดันต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว ชาติตะวันตกยังได้ร่วมกันปิดน่านฟ้าของประเทศตนเพื่อไม่ให้สายการบินของรัสเซียผ่าน โดยหลังจากที่ EU, อังกฤษ และแคนาดาได้ประกาศใช้มาตรการนี้ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลสหรัฐเองก็ได้ประกาศห้ามเครื่องบินรัสเซียบินผ่านน่านฟ้าสหรัฐด้วยในวันนี้ (2 มี.ค.) ขณะที่รัฐบาลรัสเซียก็ประกาศห้ามสายการบินชาติตะวันตกใช้น่านฟ้าของรัสเซียเพื่อเป็นการตอบโต้
ในบรรดาความเคลื่อนไหวทั้งหมด เหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้หลายฝ่ายอย่างมากก็คือ การที่สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งยึดมั่นในหลักการความเป็นกลางแม้แต่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ออกมาประกาศร่วมคว่ำบาตรรัสเซียโดยใช้มาตรการชุดเดียวกันกับ EU และจะปิดน่านฟ้าของประเทศไม่ให้สายการบินของรัสเซียผ่านด้วย
บริษัทเอกชน-องค์กรกีฬาประกาศตัดสัมพันธ์หมีขาว
นอกเหนือจากการดำเนินการโดยรัฐบาลประเทศต่าง ๆ แล้ว บรรดาบริษัทเอกชนและองค์กรกีฬาก็ได้ประกาศตัดสัมพันธ์กับรัสเซียตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น มาสเตอร์การ์ด อิงค์และวีซ่า อิงค์ที่ระงับการให้บริการเครือข่ายชำระเงินกับสถาบันการเงินของรัสเซียหลายแห่งตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ด้านวอลท์ ดิสนีย์, วอร์เนอร์ บราเธอร์ส, โซนี่ พิกเจอร์, สมาคมภาพยนตร์แห่งสหรัฐ (MPA) และเน็ตฟลิกซ์ ก็ได้ระงับการนำภาพยนตร์ออกฉายในรัสเซียเช่นกัน เพื่อตอบโต้กรณีรัสเซียใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน
บริษัทแอปเปิล อิงค์เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่าได้หยุดการขาย iPhone และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในรัสเซียแล้ว ส่วนแอปบริการข่าวที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซียได้ถูกบล็อกการดาวน์โหลดนอกรัสเซียแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมพลังงานก็เผชิญกับแรงกดดันให้ตัดความสัมพันธ์กับรัสเซีย โดยเอ็กซอนโมบิลประกาศในวันนี้ว่า จะระงับการดำเนินงานในโครงการร่วมทุน Sakhalin-1 LNG ในรัสเซีย และระงับการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ทั้งหมด
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่บริษัทคู่แข่งของเอ็กซอนโมบิลอย่างบีพีประกาศขายหุ้นในรอสเนฟต์ ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย และเชลล์ประกาศตัดสัมพันธ์กับก๊าซพรอม ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอีกรายของรัสเซีย ขณะที่โททาล เอนเนอร์จีส์ประกาศว่าจะไม่ลงทุนเพิ่มในรัสเซีย
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้องค์กรกีฬาทั่วโลกตัดสิทธิ์นักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากรัสเซียในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ
แถลงการณ์ดังกล่าวของ IOC เปิดทางให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตัดสิทธิ์รัสเซียจากการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบเพลย์ออฟกับโปแลนด์ในวันที่ 24 มี.ค. โดยก่อนหน้านี้สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) มีมติตัดสิทธิ์รัสเซียจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก นัดชิงชนะเลิศ
รูเบิลร่วงหนักเป็นประวัติการณ์ ชาวรัสเซียกระอัก-ธนาคารกลางเต้น
การถูกตัดสัมพันธ์ทางการเงินอย่างรุนแรงเช่นนี้ ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจรัสเซียอย่างมาก โดยเฉพาะสกุลเงินรูเบิลซึ่งร่วงลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันจันทร์ แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 119 รูเบิลต่อดอลลาร์ จากระดับ 75 รูเบิลต่อดอลลาร์ก่อนที่รัสเซียจะประกาศรับรองเอกราชแก่แคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์
อนึ่ง ค่าเงินรูเบิลเทียบดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ อยู่ที่ 110.26 รูเบิลต่อดอลลาร์
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ค่าเงินรูเบิลที่ร่วงลงอย่างหนัก ได้ส่งผลให้ประชาชนรัสเซียแห่ต่อคิวที่ธนาคารและตู้เอทีเอ็มเพื่อถอนเงินสด เนื่องจากหวั่นว่าเงินออมของตนอาจสูญเสียมูลค่า แต่กลับไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นในสกุลเงินรูเบิลหรือดอลลาร์ก็ตาม
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นรัสเซียยังได้ปิดทำการในวันจันทร์ที่ผ่านมาเพื่อควบคุมผลกระทบต่อตลาด หลังจากดัชนี MOEX ตลาดหุ้นรัสเซียร่วงหนักกว่า 45% ในวันที่ 24 ก.พ.
สถานการณ์ดังกล่าวบีบบังคับให้ธนาคารกลางรัสเซียต้องเร่งดำเนินการ โดยธนาคารกลางรัสเซียได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 10.5% สู่ระดับ 20% จากระดับ 9.5% ในวันจันทร์ เพื่อรับมือกับการทรุดตัวของค่าเงินรูเบิลและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และสั่งให้โบรกเกอร์ในรัสเซียห้ามชาวต่างชาติขายหลักทรัพย์ เพื่อควบคุมผลกระทบในตลาดเงินด้วย
ด้านทำเนียบเครมลินประกาศในวันอังคาร (1 มี.ค.) ว่า ปธน.ปูตินได้ลงนามในกฤษฎีกาบังคับใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเฉพาะกาลเพื่อรับประกันเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ โดยห้ามบุคคลใด ๆ นำเงินสกุลต่างประเทศมากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐออกจากประเทศ
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ก.พ. เว็บไซต์เอฟเอ็กซ์ เอ็มไพร์รายงานโดยอ้างแถลงการณ์ของนายนิโคไล อาเรเฟียฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสภาดูมารัสเซีย ระบุว่า ในกรณีที่รัสเซียเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ รัฐบาลอาจพิจารณาดึงเงินรูเบิลจากบัญชีออมทรัพย์ของประชาชนเพื่อนำมาช่วยพยุงเศรษฐกิจ
“หากรัสเซียไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนในต่างประเทศได้ รัฐบาลก็คงไม่มีทางเลือกนอกจากอายัดเงินในบัญชีออมทรัพย์ของประชาชนรัสเซีย ซึ่งมีมูลค่ารวมราว 60 ล้านล้านรูเบิล เพื่อนำมาแก้ไขสถานการณ์”
นายอาเรเฟียฟกล่าว
อนึ่ง ความเสี่ยงที่จะเกิดกรณีดังกล่าว ประกอบกับการที่ธนาคารรัสเซียบางแห่งถูกตัดขาดจากระบบ SWIFT อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนรัสเซียตัดสินใจซื้อบิตคอยน์กันมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ของราคาบิตคอยน์น่าจะเป็นผลมาจากการที่ชาวรัสเซียแห่ซื้อบิตคอยน์
โลกหวั่นวิกฤตยูเครนซ้ำเติมปัญหาราคาน้ำมัน-ก๊าซเชื้อเพลิงพุ่ง
อีกประเด็นที่น่าวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ คือราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาราคาเชื้อเพลิงเดิมนั้นยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากการโจมตีของรัสเซียได้สร้างความเสียหายให้กับท่อส่งก๊าซและโครงสร้างพื้นฐานในยูเครน ซึ่งเป็นช่องทางการขนส่งก๊าซเชื้อเพลิงราว 1 ใน 3 ของรัสเซียไปยังยุโรป
นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ระบุว่า บริษัท Nord Stream 2 AG ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซ “นอร์ดสตรีม 2” ที่จัดส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังเยอรมนี ได้ประกาศเตรียมยื่นล้มละลาย หลังจากถูกรัฐบาลสหรัฐคว่ำบาตรและรัฐบาลเยอรมนีระงับการอนุมัติโครงการ
แม้ว่าชาติตะวันตกส่วนใหญ่จะยังคงพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย แต่การประกาศตัดสัมพันธ์กับรัสเซียของบรรดาบริษัทน้ำมันเอกชนรายใหญ่ ประกอบกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียเองอาจประกาศระงับการส่งออกน้ำมันให้ชาติตะวันตกเพื่อเป็นการตอบโต้ ก็ยังคงสร้างแรงกดดันเชิงบวกต่อราคาน้ำมัน ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนคาดว่า ราคาน้ำมันอาจพุ่งสูงถึง 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของวันที่ 1 มี.ค. ระบุว่า สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 7.69 ดอลลาร์ หรือ 8% ปิดที่ 103.41 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2557 และเป็นการพุ่งขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ในวันเดียวที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. พุ่งขึ้น 7 ดอลลาร์ หรือ 7.2% ปิดที่ 104.97 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. 2557
สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ได้ทำให้วิกฤตการณ์ในยูเครนเป็นประเด็นที่ยากต่อการติดตาม ในอนาคตอันใกล้ นอกจากความสูญเสียที่เกิดจากการสู้รบแล้ว เรายังอาจได้เห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะขยายวงไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่ควรจับตามองต่อไป พร้อมกับหวังให้ทุกฝ่ายหาทางออกอย่างสันติได้โดยเร็ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มี.ค. 65)
Tags: SWIFT, การเงิน, คว่ำบาตร, ตลาดหุ้นรัสเซีย, ธนาคารกลางรัสเซีย, น้ำมันดิบ, รัสเซีย, ราคาก๊าซ, ราคาน้ำมัน, วิกฤตยูเครน, เงินรูเบิล