ปัจจุบันกระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเป็นที่นิยมของนักลงทุนรุ่นใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่มากมายหลายบริษัทเข้ามาลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า เมื่อสิ้นปี 2564 มีการเปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วทั้งสิ้นเป็นจำนวนกว่า 1.98 ล้านบัญชี มูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 1 แสนล้านบาทต่อเดือน และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติพบว่าผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกว่า 90% เป็นบุคคลธรรมดาที่อยู่ในช่วงอายุ 20-40 ปี
และเมื่อพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ทุกท่านก็คงคุ้นเคยกับคริปโทเคอร์เรนซี โทเคนประเภทต่าง ๆ และสกุลเงินดิจิทัลเป็นอย่างดี คอนเซ็ปต์ของการกำเนิดขึ้นของเหรียญต่าง ๆ เหล่านี้ก็เนื่องมาจากความต้องการในการตัด ‘ตัวกลาง’ ออกจากระบบในการเข้าทำธุรกรรมต่าง ๆ เพราะอาจไม่มั่นใจในตัวกลาง ไม่มั่นใจในการเก็บรักษาความลับ มีค่าธรรมเนียมสูง ระยะเวลาเปิดบริการที่จำกัด มีความคล่องในการดำเนินการน้อยกว่า และข้อจำกัดในด้านอาณาเขต เป็นต้น จนเป็นที่มาของการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินแบบใหม่ที่เรียกว่า การเงินแบบกระจายศูนย์ หรือ Decentralized Finance หรือที่เรียกว่า DeFi นั่นเอง
DeFi เป็นแนวคิดทางการเงินแบบใหม่ที่มุ่งหวังให้การดำเนินธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ สามารถทำได้โดยอาศัยเทคโนโลยี Blockchain, Distributed Ledger และ Smart Contract เป็นหลัก โดยเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้จะเข้ามาทำหน้าจดบันทึก จัดทำสัญญาอัจฉริยะ และดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ แทนตัวกลาง (เช่น สถาบันการเงิน ธนาคาร หรือศูนย์รับแลกเปลี่ยนต่างๆ)
ปัจจุบันได้เริ่มมีการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม DeFi เช่น การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแบบกระจายศูนย์ ที่เปิดให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง โดยมีความแตกต่างกับการแลกเปลี่ยนผ่านศูนย์ซื้อขายฯ ตรงที่ทางระบบ DeFi จะไม่ถือสินทรัพย์ของลูกค้าเลย เพียงแค่เป็นพื้นที่ที่เปิดให้คนที่อยากแลกเปลี่ยนมาเจอกัน และการกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ P2P (Peer to Peer) ที่ผู้กู้และผู้ให้กู้สามารถดำเนินการต่อกันได้โดยตรงผ่านระบบบล็อกเชน เป็นต้น โดยในอนาคต DeFi อาจจะขยายไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ อาทิ การค้ำประกัน จำนำ ประกันภัย หรือตราสารอนุพันธ์ ก็เป็นได้
แม้การทำธุรรมสินทรัพย์ดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม DeFi มีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก แต่ก็ใช่ว่าแนวคิดนี้จะเป็นที่ยอมรับสำหรับทุกฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เริ่มเข้ามากำกับดูแล โดย ปัจจุบันพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ได้เข้ามากำกับดูแลกรณีของ DeFi ไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า หากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโครงการ DeFi ในประเทศไทยใด มีการออกโทเคนดิจิทัลที่เข้าข่ายต้องได้รับอนุญาตให้แก่ผู้ใช้บริการ และหากลักษณะหรือรูปแบบการให้บริการเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ก็จะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดตามที่กฎหมายกำหนด
เนื่องจากหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมและไม่มีความชัดเจนมากพอ เมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว (ธันวาคม 2564) ทาง ก.ล.ต. จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในส่วนของการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล และที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมบน Decentralized Finance Platform (แพลตฟอร์ม DeFi) ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยได้มีการกำหนดแนวทางห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปทำธุรกรรมใด ๆ บนแพลตฟอร์ม DeFi และห้ามมิให้ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้คำแนะนำแก่ลูกค้า หรือจัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ DeFi เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการดังกล่าวในวงกว้าง ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อป้องกันการ ชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการในวงกว้าง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง มีกรณีที่เป็นการหลอกลวงและการโจรกรรมทางไซเบอร์ทำให้เสียหายและอาจไม่มีโอกาสในการดำเนินคดีหรือติดตามทวงคืน
อย่างไรก็ตาม ได้มีความเห็นคัดค้านต่อแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นจากผู้ลงทุนที่มีความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มองว่านโยบายรัฐที่ออกมามีลักษณะที่ค่อนข้างกีดกันมากกว่าส่งเสริม จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองกันต่อไปว่าธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม DeFi ในประเทศไทยจะพัฒนาไปในทิศทางใด จะเติบโตได้มากแค่ไหน และหน่วยงานของรัฐจะเข้ามากำกับดูแลเพียงใด เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจการเงินสมัยใหม่สามารถพัฒนาไปได้เต็มศักยภาพอย่างมั่นคง
นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์
ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา
และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 65)
Tags: Crypto, Cryptocurrency, Decrypto, DeFi, ก.ล.ต., คริปโทเคอร์เรนซี, ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์, สินทรัพย์ดิจิทัล