นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่ทั่วประเทศเปลี่ยนแปลงร้อนสลับเย็น ประชาชนจึงควรดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก ควรระมัดระวังโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจเป็นพิเศษ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 ก.พ. 65 พบผู้ป่วย 565 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบมากที่สุดในเด็กเล็กอายุ 1 ปี รองลงมา คือ อายุ 15-24 ปี และ 25-34 ปี โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เชียงราย นราธิวาส พิษณุโลก สุโขทัย และศรีสะเกษ ตามลำดับ
ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส (Influenza virus) โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล สามารถจำแนกออกเป็น 3 ชนิด (type) คือ A, B และ C สามารถติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย แพร่เชื้อผ่านการไอ จามรดกัน หรือได้รับเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ
ในส่วนของอาการหลังจากได้รับเชื้อ จะมีไข้สูง ไอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ และเจ็บคอ ในกลุ่มเด็กอาจพบอาการระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง บางรายสามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน หรือหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์ทันที
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองและคนในครอบครัว โดยการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention: UP) และยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่
- ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม โดยใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูทุกครั้ง และควรใส่หน้ากากอนามัย
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ ถูมือให้ทั่วก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังเข้าห้องน้ำ ห้องส้วม หรือหยิบจับสิ่งของต่างๆ
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือในสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น เว้นระยะห่างระหว่างจากผู้อื่น
- เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม แม้ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
ทั้งนี้ การปฏิบัติดังกล่าวจะทำให้ลดความเสี่ยงจากโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ โรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ รวมถึงโรคโควิด-19 ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 65)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, โอภาส การย์กวินพงศ์, ไข้หวัดใหญ่