ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) เปิดรายงานการวิเคราะห์ภาคเอกชนของประเทศไทย : พลิกฟื้นผลิตภาพด้วยเครื่องยนต์ใหม่ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยืดหยุ่นและมั่นคง โดยระบุว่า
ที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยการส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลัก แต่พอเกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลง จึงจำเป็นต้องแสวงหาเครื่องยนต์ตัวใหม่มาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตตามที่คาดหวังไว้ได้
“ภาคเอกชนจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ต้องอาศัยร่วมมือจากภาครัฐ ที่จะช่วยขจัดปัญหาและอุปสรรค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว
การพัฒนาให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2580 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น ต้องมีการแก้ไขข้อจำกัดด้านการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่
- ยกระดับการแข่งขันให้เป็นธรรม ไม่ให้มีการแข่งขันที่จำกัดและความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางการสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชน
- ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพราะข้อจำกัดด้านการลงทุนจากต่างชาติ ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและยังขัดขวางกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจของบริษัทต่างชาติด้วย
- เพิ่มการเข้าถึงแรงงานที่มีทักษะสำหรับโลกอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแรงงานที่มีทักษะไม่เพียงพอที่ธุรกิจต้องการ เนื่องจากเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้สัดส่วนของประชากรวัยแรงงานลดลง ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติยังค่อนข้างน้อย มีการจ้างงานไม่เต็มเวลา และหลักสูตรการศึกษายังไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนเท่าที่ควร โดยเฉพาะทักษะด้านนวัตกรรมที่มีความต้องการในตลาดแรงงานค่อนข้างมาก
- ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนานวัตกรรม แม้การเข้าถึงสินเชื่อโดยรวมของภาคเอกชนยังคงแข็งแกร่ง แต่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (MSME) กลับเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมได้ไม่มากนัก ทำให้การนำโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในธุรกิจเป็นไปได้ยาก
- แก้ไขข้อจำกัดเฉพาะทางที่สำคัญ ได้แก่ ความซับซ้อนของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน, กรอบการกำกับดูแลการดำเนินงานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยังไม่ครอบคลุม ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไม่ตรงกันระหว่างหน่วยงาน และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการสนับสนุนปัจจันทาง
โดยรายงานฯ มีข้อเสนอแนะที่ช่วยแก้ไขข้อจำกัดสำคัญ ดังนี้
- ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม และผ่อนคลายระเบียบเรื่องการจ้างพนักงานต่างชาติ/ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ
- พิจารณาปรับปรุงข้อกำหนดการได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยเฉพาะข้อกำหนดเรื่องทุนขั้นต่ำที่คนต่างด้าวใช้ในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจในประเทศไทย (FDI) และพิจารณายกเลิกเงื่อนไขด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ
- พัฒนาระบบตรวจสอบทักษะแรงงาน เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมวางหลักสูตร และเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ประสานงานกลางการผลิต และพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (TVET)
- เพิ่มจำนวนศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานสตรีมีส่วนร่วมมากขึ้น
- เสริมความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและเพิ่มโอกาสให้ SME เข้าถึงบริการทางการเงิน โดยต่อยอดการทำธุรกรรมแฟคเตอริ่งในรูปแบบดิจิทัล (digital factoring) ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย (SME) มีบทบาทในห่วงโซ่คุณค่า
ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานพบว่า การนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้สามารถประหยัดต้นทุนและสร้างรายได้สำหรับภาคเอกชนสูงถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น อาหารและการเกษตร การก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจจะพิจารณาภาคส่วนต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การทำเกษตรกรรมฟื้นฟู การแปรรูปขยะอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างผลลัพธ์สูง
“ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) แต่ยังอยู่ในวงจำกัด ควรทำให้เกิดการแพร่หลายทั่วถึงไปทั้งประเทศ”
นางเบอร์กิท ฮานสล์ กล่าว
นอกจากนี้ รายงานฯ ยังพบว่า การเร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ จะช่วยเพิ่มกระแสเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนใหม่ในเทคโนโลยีคมนาคมขนส่ง บิ๊กดาต้า และการวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีด้านสุขภาพ สื่อดิจิทัล และด้านบันเทิง รวมทั้งการขยายตัวของภาค Official Use ส่วนต่างๆ ในประเทศไทยที่มีศักยภาพอยู่แล้วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น อีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยี ด้านการเงิน (fintech) เป็นต้น
“เวิลด์แบงก์อยากทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของภาคเอกชนไปยังภาครัฐว่ายังมีข้อจำกัดอะไร ซึ่งรายงานนี้มีข้อมูลเชิงประจักษ์มานำเสนอเปรียบเทียบให้เห็น”
นางเบอร์กิท ฮานสล์ กล่าว
ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์จะมีการนำเสนอรายงานฯ ดังกล่าวให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในวันที่ 24 ก.พ.นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 65)
Tags: ธนาคารโลก, บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ, เบอร์กิท ฮานสล์, เวิลด์แบงก์, เศรษฐกิจไทย, ไอเอฟซี