นายอรรจน์สิทธิ สร้อยทอง ผู้อำนวยการกองพัฒนาผู้ประกอบการไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในปัจจุบัน นอกจากจะให้สิทธิประโยชน์แก่โครงการลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนแล้ว ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกลุ่มนักลงทุนรายเดิมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไออยู่แล้วให้ลงทุนเพิ่มเติมบางส่วนในโครงการเดิม โดยสามารถนำเงินลงทุนนั้นมาขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากบีโอไอได้ผ่าน 2 มาตรการคือ (1) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน (Merit-based Incentives) และ (2) มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ
โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันนั้นเป็นการดำเนินการของผู้ประกอบการในด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน 7 ด้าน ได้แก่ (1) การวิจัยและพัฒนา (R&D) เทคโนโลยีและนวัตกรรม (2) การสนับสนุนกองทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร สถาบันการศึกษา ศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (3) การฝึกอบรมหรือฝึกการทำงานเพื่อพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับนักศึกษาฝึกงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (4) ค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิเทคโนโลยีที่พัฒนาในประเทศ (5) การฝึกอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง (6) การพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ และ (7) การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์
ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ทั้งเพิ่มวงเงินและเพิ่มระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมตั้งแต่ 100-300% ระยะเวลาตั้งแต่ 1-3 ปี ในกรณีลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมสูงสุดถึง 5 ปี
ส่วนมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการประหยัดพลังงาน (2) ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร (3) ด้านการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรม (4) ด้านการยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล (5) ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ (6) ด้านการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมจะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วน 50% ของเงินลงทุนที่ใช้ในการปรับปรุง เฉพาะด้านที่ (6) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วน 10% ของเงินลงทุนที่ใช้ในการปรับปรุง
นอกจากนี้ยังผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยกำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 500,000 บาท จากปกติที่กำหนด 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)
“หลังการระบาดของโควิด-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคจึงเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการจะลงทุนเพิ่มเติม และด้วยในขณะนี้การลงทุนด้วยเงินจำนวนมากยังไม่สามารถกระทำได้ แต่การลงทุนบางส่วนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากได้สิทธิประโยชน์ท็อปอัพจากบีโอไอแล้ว ยังช่วยสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานไปสู่อนาคตอีกด้วย”
นายอรรจน์สิทธิ กล่าว
ทั้งนี้ กองพัฒนาผู้ประกอบการไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการไทยให้มีความพร้อมเพื่อออกไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยรายเล็กกับผู้ผลิตรายใหญ่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะมีการจัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “ท็อปอัพสิทธิประโยชน์จากบีโอไอด้วย Merit Incentives” ในวันพุธที่ 2 มี.ค.65 เวลา 13.30-15.00 น.
“การสัมมนาในครั้งนี้เป็นการให้ความรู้ผู้ประกอบการถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบีโอไอที่จะช่วยเพิ่มแต้มต่อ และยกระดับขีดความสามารถขององค์กรเพื่อรับมือการแข่งขันในตลาดโลกได้”
นายอรรจน์สิทธิ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 65)
Tags: BOI, บีโอไอ, ส่งเสริมการลงทุน, อรรจน์สิทธิ สร้อยทอง, เศรษฐกิจ