นายพลแสง แซ่เบ๊ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.โรแยล พลัส (PLUS) กล่าวว่า บริษัทยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 170 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.4% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้
โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (Par value) 0.50 บาท/หุ้น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อสนับสนุนให้ PLUS มีศักยภาพและความพร้อมสูงในการเติบโตรองรับความต้องการของลูกค้า
บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้ลงทุนในโครงการขยายโรงงานและลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม จ่ายคืนหนี้สินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานของบริษัทเข้าสู่มาตรฐานสากล เพิ่มความน่าเชื่อถือในด้านภาพลักษณ์ ให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและคู่ค้า รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
PLUS ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรายใหญ่ โดยมีสินค้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มน้ำผลไม้ ได้แก่ เครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าว แบรนด์ Coco Royal เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว ภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ Coco Royal เครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมเม็ดแมงลัก แบรนด์ Nita เครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมเมล็ดเชีย ภายใต้แบรนด์ Coco Royal และ Mabu นอกจากนี้ กลุ่มเครื่องดื่มทั่วไป ได้แก่ ชานม แบรนด์ Mabu เครื่องดื่มวิตามิน แบรนด์ C-Boom และเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น นมถั่วเหลือง เครื่องดื่มกาแฟผสมน้ำนมมะพร้าว แบรนด์ Coco Coff โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มรับจ้างผลิต (OEM) นอกจากนี้ PLUS ได้พัฒนาและทำการตลาดสินค้า แบรนด์ที่ PLUS พัฒนาเอง (Company Brand) อีกด้วย
บริษัทผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไปหลายประเทศในหลายทวีป โดยสัดส่วนรายได้ในปี 63 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 อยู่ที่ 98.9% และ 98.9% ตามลำดับ เป็นรายได้มาจากการส่งออก โดยมีประเทศคู่ค้าหลักอยู่ในทวีปต่างๆ ได้แก่ ทวีปอเมริกา ทวีปเอเชีย และทวีปยุโรป และยังได้รับการรับรองคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลหลายรายการ ได้แก่ ISO 22000, FSSC 22000, GMP, HACCP และ U.S. FDA Standard, Halal การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จึงเป็นการสนับสนุนและพัฒนา เพื่อรองรับโอกาสเติบโตในอนาคต
บริษัทมีกลยุทธ์ทำธุรกิจในการส่งออกสินค้าไปทั่วโลก ส่งผลให้มีรายได้จากการขายอยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศในสัดส่วนสูง ซึ่งแม้ว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าตั้งแต่ปี 61 แต่รายได้จากการขายของ PLUS ระหว่างปี 61–63 ยังสามารถเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 18.4% สาเหตุจากกลยุทธ์ของ PLUS ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็ว และการขยายฐานลูกค้าสำหรับตลาดใหม่ รวมถึงสินค้าของ PLUS มีรสชาติที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
บริษัทมีความเชื่อมั่นในจุดแข็งและรสชาติของเครื่องดื่ม เช่น มะพร้าวที่ปลูกในประเทศไทย ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และถูกปากผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมทั้งวางเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่รักสุขภาพ และชื่นชอบวัตถุดิบธรรมชาติ (Natural Ingredients) ด้วยนวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่ง ขยายฐานตลาดจากคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้การสร้างแบรนด์สินค้าของ PLUS ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ปัจจุบัน PLUS มี 5 สายการผลิต สามารถรองรับการผลิตสูงสุดได้ 197.8 ล้านขวด/ปี
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติแผนการขยายกำลังการผลิตโดยการเพิ่มสายการผลิตสายที่ 6 ซึ่งเป็นสายการผลิตระบบการบรรจุแบบปลอดเชื้อ (Aseptic) สำหรับขวดพลาสติกแบบ PET กำลังการผลิต 400 ขวด/นาที เพื่อเตรียมกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อการเติบโตของยอดขายในอนาคต โดย PLUS จะพิจารณาเข้าลงทุนในระยะเวลาที่เหมาะสม เมื่อยอดขายที่ว่าจ้าง OEM ผลิตสินค้าแบบขวด Aseptic ในระยะแรกได้รับผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจและเห็นถึงอัตราการเติบโตที่คาดว่าจะยั่งยืน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผลการดำเนินงานของ PLUS และผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น
นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ PLUS กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบ Filing ของ โรแยล พลัส แล้ว คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนใน SET หมวดธุรกิจอุตสาหกรรม คาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนภายในไตรมาส 2/65
ปัจจุบัน PLUS มีทุนจดทะเบียน 335 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้ว 250 ล้านบาท และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการที่เหลือหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และทุนสำรองต่างๆ ตามกฎหมาย ด้านโครงสร้างของผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยกลุ่มนายพลแสง แซ่เบ๊ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วนก่อนและหลัง IPO ที่ 77.7% และ 57.9% ตามลำดับ และผู้ถือหุ้นอื่นๆ ถือหุ้นรวมกัน ในสัดส่วนก่อนและหลัง IPO ที่ 22.3% และ 16.7% ตามลำดับ
สำหรับฐานะทางการเงินตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 61–63) บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 802.3 ล้านบาท 898.4 ล้านบาท และ 1,106.5 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น แม้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 คำสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาในกลุ่มน้ำมะพร้าวก็มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากผู้บริโภคกักตุนสินค้าบริโภคในช่วง Lockdown และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 1.3 ล้านบาท 11.7 ล้านบาท 57.2 ล้านบาท ตามลำดับ โดยคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 0.2%, 1.3% และ 5.2% ตามลำดับ เนื่องจากการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบได้ดีขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการประหยัดเนื่องจากขนาดซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง กลยุทธ์การเน้นการขายสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง ได้แก่ กลุ่มน้ำมะพร้าว ควบคู่การควบคุมค่าใช้จ่าย
ส่วนในงวด 9 เดือนแรกของปี 64 มีรายได้รวมเท่ากับ 765.3 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 60.7 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกำไรสุทธิที่มากกว่ากำไรสุทธิของปี 63 เรียบร้อยแล้ว โดยคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 7.9% เนื่องจากการบริหารต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนทางการเงินที่ลดลง
“มองว่าโอกาสของ PLUS หลังจากบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้บริษัทมีความพร้อมมากขึ้นในการขยายธุรกิจ บริษัทคาดว่าจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ลงทุนในโครงการขยายโรงงานและลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต โดยการเข้าตลาดฯในครั้งนี้ ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานของบริษัทให้เป็นมาตรฐานสากล เพิ่มความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและคู่ค้า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ในฐานะบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินกิจการภายใต้หลักบรรษัทภิบาล มีความยั่งยืนและมีความโปร่งใส ก้าวสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มออกสู่ตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต” นางสาวสุวิมล กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 65)
Tags: IPO, PLUS, พลแสง แซ่เบ๊, สุวิมล ศรีโสภาจิต, หุ้นไทย, โรแยล พลัส