นักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ออฟอเมริการะบุว่า บรรดาธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียนั้นไม่เร่งรีบที่จะดำเนินการตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แม้เฟดจะเปลี่ยนแนวทางมาคุมเข้มนโยบายการเงินในเชิงรุกก็ตาม
“ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในตลาดเกิดใหม่ของเอเชียมีแนวโน้มจะยึดมั่นต่อนโยบายของตนเองและให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะแทบไม่กังวลเรื่องการที่ต้องล้าหลังในด้านการคุมเข้มนโยบาย”
นักเศรษฐศาสตร์กล่าว
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ตลาดทั่วโลกเผชิญกระแสความผันผวน เนื่องจากนักลงทุนปรับฐานการลงทุน เพราะคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ออฟอเมริการะบุว่า มี 3 เหตุผลที่ช่วยให้ธนาคารกลางในประเทศตลาดเกิดใหม่เอเชียสามารถชะลอการคุมเข้มนโยบายการเงินออกไปได้
ประการแรกก็คือเงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภคอยู่ในระดับปานกลาง โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รายปีมีแนวโน้มสอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารกลางในวงกว้าง ซึ่งเป็นเหตุผลให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศสามารถปรับนโยบายการเงินตามบริบทภายในประเทศ
ประการที่สอง การเติบโตด้านอุปสงค์ภายในประเทศยังซบเซา โดยการประมาณการในปัจจุบันของเราบ่งชี้ว่า การเติบโตเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียระหว่างปี 2563-2565 จะยังคงอยู่ต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว สหรัฐและประเทศในเอเชียที่ไม่ใช่ตลาดเกิดใหม่ทำผลงานได้ดีกว่าอย่างมากในเรื่องการอุดช่องว่างด้านผลผลิต”
ประการที่สาม ทุนสำรองระหว่างประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัดช่วยลดแรงกดดันจากการไหลออกของเงินทุน โดยทุนสำรองระหว่างประเทศเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดเกิดใหม่ของเอเชีย แม้มีเงินทุนไหลออกมหาศาลในปี 2563 ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดเกิดใหม่เอเชียยังมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แม้ว่าเป็นกลุ่มประเทศนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์สุทธิก็ตาม
“เราเชื่อว่าธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ของเอเชีย ยกเว้นธนาคารกลางจีน (PBOC) จะทยอยคุมเข้มนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยดำเนินนโยบายตามบริบทภายในประเทศ แทนที่จะก้าวตามเฟด”
นักเศรษฐศาสตร์กล่าว
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 25-26 ม.ค.ในวันพุธ (16 ก.พ.) ระบุว่า แม้กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ, ตลาดแรงงาน และการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ แต่การพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเงินเฟ้อและข้อมูลด้านอื่น ๆ และเฟดจะประเมินไทม์ไลน์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมแต่ละครั้งด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 65)
Tags: ธนาคารกลางสหรัฐ, นโยบายการเงิน, สหรัฐ, อัตราเงินเฟ้อ, เงินเฟ้อ