นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยหลังจากหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ขณะนี้ทราบปริมาณคราบน้ำมันว่าอยู่ที่ประมาณ 5,000 ลิตร โดยเป็นข้อมูลที่ บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) แถลงเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปักใจเชื่อข้อมูลจากบริษัทฯ แต่อย่างใด แต่ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการตรวจสอบปริมาณน้ำมันที่แน่ชัดได้
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าบริษัทคงไม่ได้ปกปิดข้อมูล แต่สิ่งที่บริษัทให้ข้อมูลมาก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้มากน้อยขนาดไหน คงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญสำรวจข้อเท็จจริงต่อไป อย่างไรก็ดี ข้อมูลเหล่านี้สามารถคำนวณได้ จากที่บริษัทแจ้งคือจุดรั่วอยู่ต่ำจากผิวน้ำทะเลลงไปประมาณ 20 เมตร แรงดันน้ำ ขนาดของจุดรั่ว และระยะเวลาในการรั่ว สามารถนำมาคำนวณปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลได้ทั้งสิ้น
“ขณะนี้ตัวเลขที่บริษัทฯ ให้มายังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปตรวจสอบยืนยันได้ ผมเองก็เร่งให้ตรวจสอบ เพราะบางเรื่องที่บริษัทฯ ให้ข้อมูลมามีความคลุมเครือ ซึ่งผมเองก็มีข้อกังขา เช่น กรมเจ้าท่ามีหนังสือแจ้งบริษัทฯ ขอให้หยุดดำเนินการทุกอย่างเกี่ยวกับท่อที่รั่วตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าทำไมไม่เป็นไปตามคำสั่ง ทางบริษัทฯ ก็ยังไม่ตอบให้ชัดเจน ซึ่งต้องฝากตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอบสวนต่อไป”
นายวราวุธ กล่าว
ส่วนสถานการณ์ในขณะนี้ เนื่องจากกระแสลมทำให้กลุ่มน้ำมันกระจายตัวออก ไม่อยู่เป็นแพใหญ่ และยังไม่พัดเข้าฝั่ง ซึ่งต่างจากการรั่วไหลครั้งที่แล้ว ขณะเดียวกันก็ทำให้การควบคุมโดยใช้บูม และสารดิสเพอร์เชนต์ (Dispersant) ลำบากกว่าครั้งที่แล้ว แต่ด้วยปริมาณน้ำมันที่น้อยกว่าครั้งที่แล้วหลายเท่าตัว จึงทำให้มีการบริหารจัดการง่ายกว่าครั้งที่แล้ว
ในส่วนของการใช้สารดิสเพอร์เชนต์ที่ทำให้น้ำมันแตกตัวเป็น Part Per Million (ppm) จะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน น้ำมันที่แตกตัวเป็น ppm จะสลายหายไป ดังนั้นในระยะยาว ด้วยปริมาณของน้ำทะเล รวมทั้งจุรินทรีย์ และแบคทีเรียที่กัดกินตัว ppm คาดว่าน้ำมันจะสลายหายไปในที่สุด
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้ขอให้กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คอยติดตามสถานการณ์คลื่นลม และทิศทางกระแสน้ำ เพื่อที่จะได้นำบูมคอยดักทางน้ำมันที่จะกระจายตัวไป
นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้ทุกฝ่ายมาประชุมเพื่อหามาตรการรองรับ และแก้ไขสถานการณ์ เสนอแนะแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทำความเข้าใจแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ว่าเกิดอะไรขึ้น บริษัทจะมีแนวทางเยียวยาแก้ไขปัญหาอย่างไร ทางจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่จะมีแนวทางอย่างไร และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์น้ำมันพัดไปบนชายหาด ได้ฝากให้กรมควบคุมมลพิษหารือกับทางศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) พิจารณาว่าสารที่ทำให้น้ำมันแตกตัว หรือสารดิสเพอร์เชนต์ จะมีการขออนุมัติให้ใช้เพิ่มเติมหรือไม่
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรีและรมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้กำชับในการประชุมเมื่อเช้านี้ว่าประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ การเยียวยาความเดือนร้อนของประชาชน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วต้นทุนการเยียวยาทั้งหมดทางบริษัทฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
“วานนี้ผมได้มีการหารือร่วมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน รวมทั้งหารือกับกระทรวงคมนาคม ว่าทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการกับบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด”
นายวราวุธ กล่าว
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แจ้งความดำเนินคดีกับทางบริษัทฯ ตั้งแต่เกิดเหตุครั้งแรกแล้ว และเมื่อเกิดเหตุครั้งนี้ขึ้นก็ได้ฟ้องดำเนินคดี เนื่องจากถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความประมาท ทั้งคดีแพ่ง และอาญา ดังนั้น มั่นใจได้ว่าไม่มีการเพิกเฉยหรือดูดายแน่นอน
สำหรับเรื่องค่าเสียหายจากเหตุการณ์นี้มีอยู่หลายส่วน หากเกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น กรมควบคุมมลพิษประเมินออกมาแล้วว่า ผลกระทบในวงกว้างมีค่าสารโลหะหนัก หรือสารไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเลเท่าไหร่ และเกิดผลกระทบกับห่วงโซ่อาหาร ปะการังอย่างไร ซึ่งทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็อยู่ระหว่างการมอนิเตอร์ด้วย
อย่างไรก็ดี ผลกระทบเมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่วคงไม่สามารถดูได้ว่า 3 วัน 5 วัน ประเมินค่าออกมาเท่าไหร่ แต่เรื่องคดีความต้องใช้เวลา เพราะต้องดูผลกระทบในระยะยาว อาจต้องดูถึง 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งแต่ละห้วงเวลาต้องดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อบริษัทฯ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงในพื้นที่ รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่อยู่ในจังหวัดระยอง และอื่นๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จะดำเนินการในส่วนนี้ต่อไป
“การที่บริษัทฯ อยู่มา 30 ปี และเกิดเหตุติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าอาจเป็นการไม่เอาใจใส่ ซึ่งผมก็ไม่สามารถคิดแทนบริษัทได้ แต่อาจทำให้บางคนคิดได้ว่าเป็นการเลินเล่อหรือไม่ อย่างไรก็ดี บริษัทยืนยันว่าจะชดใช้ค่าเสียหาย และดำเนินการตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด”
นายวราวุธ กล่าว
สำหรับการวางแผนระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกนั้น เชื่อว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีมาตรการที่เข้มข้นอยู่แล้ว ซึ่งวงรอบของการซ่อมบำรุง คือหัวใจสำคัญ นอกจากนี้ ได้ฝากไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมเจ้าท่า ให้ตรวจสอบการทำงานของท่อลักษณะนี้ว่ามีที่ไหนบ้าง และมีการซ่อมแซมอย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 65)
Tags: SPRC, น้ำมันดิบรั่ว, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, วราวุธ ศิลปอาชา, สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง