ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ของบริษัทในวงเงินไม่เกิน 1 พันล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 4 ปี ที่ระดับ “A-” ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ในการดำเนินงานและชำระคืนหนี้
อันดับเครดิตได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากสถานะเครดิตเฉพาะของบริษัทเพื่อสะท้อนถึงการที่บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งที่ระดับ “A/Stable”) โดยอันดับเครดิตที่ได้รับการยกระดับสะท้อนถึงการที่บริษัทสร้างรายได้และกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งให้แก่บริษัททุนธนชาต ในขณะที่บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากบริษัททุนธนชาตเช่นกัน
สถานะเครดิตเฉพาะของบริษัทที่ระดับ “bbb+” สะท้อนถึงความเข้มแข็งของสถานะทางการตลาดของบริษัทในตลาดเฉพาะ ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เน้นรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์และรถยนต์หรู นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถในการรักษาสถานะทางการตลาด ตลอดจนการมีฐานทุนที่แข็งแรง และผลประกอบการทางการเงินที่ดีของบริษัทอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนลงจากความกังวลในเรื่องสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์และคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่เสื่อมถอยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทใน 2-3 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดในอีก 2-3 ปีข้างหน้าไว้ได้ โดยจะมีการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากยอดสินเชื่อหดตัวลงซึ่งสอดคล้องกับสภาวะอุตสาหกรรมโดยรวม ทริสเรทติ้งประมาณการว่ายอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 6% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566 โดยมีสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ในภาคการขนส่งและรถยนต์หรูที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างที่เติบโตขึ้น 2% จากสิ้นปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่จำนวน 4.9 หมื่นล้านบาท
ถึงแม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะถดถอยลงอันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะยังคงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตได้จากนโยบายด้านเครดิตที่เข้มงวด กระบวนการจัดเก็บหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนา รวมถึงการมีสำรองหนี้สูญในระดับที่เพียงพอ อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตหรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ระดับ 4.3% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.1% ณ สิ้นปี 2563
ฐานทุนของบริษัทซึ่งประเมินโดยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (RAC) อยู่ในระดับที่เข้มแข็งที่ระดับ 22.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ความสามารถในการสร้างรายได้ซึ่งประเมินด้วยอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (EBT/ARWA) เมื่อปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้วยังคงอยู่ที่ระดับ 4.3% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะรักษา RAC ให้อยู่ในระดับแข็งแรงที่ 23% และ EBT/ARWA อยู่ที่ระดับ 4.2% ในช่วง 2565-2566 ได้ โดยเป็นผลจากการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอเนื่องจากบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั้งจากตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุนรวมทั้งยังมีวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงินอีกหลายแห่งซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทได้
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด ตลอดจนฐานทุน และความสามารถในการสร้างผลกำไรในระดับปัจจุบันเอาไว้ได้ นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถบริหารคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแออีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากฐานทุนมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงทรงตัวอยู่ในระดับเกินกว่า 25% อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อันดับเครดิตองค์กรอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากอันดับเครดิตของ TCAP ได้รับการปรับเพิ่มขึ้น
ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจนกระทั่งอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 9% หรือคุณภาพสินเชื่อถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 5% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและฐานทุนของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การปรับลดอันดับเครดิตของ TCAP อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 65)
Tags: THANI, ทริสเรทติ้ง, ราชธานีลิสซิ่ง, หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ, หุ้นไทย, อันดับเครดิต