ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนม.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 44.8 จากเดือนธ.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.2 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 38.7, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 41.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 54.4
ปัจจัยลบที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนม.ค.ลดลง ได้แก่
- ความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยว อีกทั้ง ศูนย์บริหารสถานการร์โควิด-19 (ศบค.) ยังยกเลิกระบบ Test&Go เป็นการชั่วคราว
- ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง
- ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น
- ความกังวต่อเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ
- เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น
ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่
- กระทรวงการคลัง ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 ขยายตัว 1.2% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ 1.0% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวที่ระดับ 4%
- ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน 7 มาตรการ
- การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของทั้งโลกที่เป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น
- การส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.64 ขยายตัว 24.18% ส่งผลให้ทั้งปี ขยายตัวได้ 17% และ
- ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกร และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 65)
Tags: ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย