7 องค์กรผนึกกำลังยกระดับมาตรฐานห่วงโซ่อุปทานประมงสงขลาสู่สากล

หน่วยงานพันธมิตรจากภาค รัฐ เอกชน และประชาสังคม 7 องค์กรร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ในการดำเนินศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center หรือ ศูนย์ FLEC) ในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2564-2568) ชูหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเศรษฐกิจหมุนเวียน หนุนครอบครัวแรงงานประมงมีความมั่นคงทางอาหารบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน ควบคู่กับการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะทะเลและชายฝั่งในเขตพื้นที่ท่าเรือสงขลา เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน

หน่วยงานที่ร่วมมือในการดำเนินงานศูนย์ FLEC ประกอบด้วย องค์การสะพานปลา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด และ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) การคุ้มครองแรงงานในภาคการประมงและครอบครัวตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ต่อยอดการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การพึ่งพาตนเอง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับการนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยจัดการขยะทะเล

นางสาวนาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา ในฐานะกรรมการศูนย์ FLEC กล่าวว่า จากความสำเร็จของการดำเนินงานของศูนย์ฯ ในระยะแรก (2558-2563) เป็นผลจากการบูรณาการของ 5 องค์กรก่อตั้ง มีแผนงานและกำหนดเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายแบบครบวงจร และยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ องค์กรก่อตั้งได้สานต่อการดำเนินงานของศูนย์ฯ FLEC ระยะที่ 2 (2564-2568) เป็นเวลา 5 ปี โดยประสานความเชี่ยวชาญของ 7 องค์กร ขับเคลื่อนภารกิจด้านการคุ้มครองแรงงานในอุตสากรรมประมงไทยต่อเนื่อง พร้อมทั้งต่อยอดสู่การส่งเสริมความมั่นทางอาหาร และการจัดการขยะทางทะเล ช่วยตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ตั้งแต่ เป้าหมายที่ 2 การยุติความหิวโหย เป้าหมายที่ 3 การสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย เป้าหมายที่ 4 การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น

การดำเนินของศูนย์ FLEC ในระยะที่ 2 จะประสานความชำนาญและเครือข่ายของทั้ง 7 องค์กรมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานภาคประมงและครอบครัว โดยให้ความช่วยเหลือ ข้อแนะนำ ตลอดจนการสนับสนุนที่จำเป็น เพื่อให้ทุกคน ได้รับความคุ้มครองและมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตตามหลักมนุษยธรรม สอดคล้องต่อหลักการ สิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ(UN Guiding Principles on Business and Human Rights) และการเคารพต่อสิทธิเด็กและเยาวชน มุ่งส่งเสริมการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติ เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ของแรงงานและครอบครัว ให้สามารถพึ่งพาตนเองเรื่องความมั่นคงทางอาหารภายในครัวเรือน รวมทั้งนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาช่วยสร้างการมีส่วนร่วมเรื่องการจัดการขยะทะเลและชายฝั่งในเขตพื้นที่ท่าเรือสงขลา เพื่อให้ศูนย์ฯ เป็นต้นแบบในการพัฒนาที่ยั่งยืนของห่วงโซ่อาหารทะเลให้กับท่าเรือประมงและหน่วยอื่นๆ

นางสาวนาตยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินของศูนย์ฯ ในระยะที่ 2 บูรณาการความชำนาญและเครือข่ายของทั้ง 7 องค์กร ดังนี้

1) องค์การสะพานปลาอนุเคราะห์พื้นที่ตั้งของศูนย์เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเป็นห้องเรียนของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ

2) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สนับสนุนสื่อในการให้ความรู้ด้านสิทธิและการคุ้มครองแรงงาน สนับสนุนบุคลากรในการให้คำปรึกษารับเรื่องร้องทุกข์ ประสานงานหน่วยงานกระทรวงแรงงานและภาครัฐ 3).สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย สนับสนุนการ สร้างโอกาสการศึกษาของบุตรหลานของแรงงาน การส่งเสริมด้านสุขภาวะที่ดี การป้องกันโรคติดต่อ การวางแผนครอบครัว รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตอาหารเพื่อลดค่าใช้จ่ายและมีอาหารที่สะอาดปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือน

4) ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) สนับสนุนบุคลากรและเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ทำหน้าที่ให้บริการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิและการคุ้มครองแรงงาน การเป็นที่ปรึกษาให้แรงงาน รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับภาคืภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในการรณรงค์ต่อต้านการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์

5) ซีพีเอฟ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการและประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ บรรลุตามเป้าหมาย รวมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์ด้านโภชนาการ การจัดการอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร

6) บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ เก็บสะอาด สตาร์ทอัพไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการขยะ จะมาสนับสนุนการบริหารจัดการข้อมูลการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ

7) PTTGC จะมาช่วยสนับสนุนและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบการจัดการขยะภายในชุมชนแบบครบวงจร ตั้งแต่จัดเก็บจนถึงการซื้อขาย และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าขยะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดการสร้างรายได้ให้ครอบครัวของแรงงานประมงต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 65)

Tags: , , , ,