KTB ชี้ปัญหารัสเซีย-ยูเครนกระทบราคาพลังงาน ดันเงินเฟ้อพุ่ง แนะรัฐเร่งดูแล

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนว่า เป็นสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในเรื่องของพลังงาน

โดยในช่วงเดือนม.ค. 65 ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 3% ซึ่งประเมินว่าหากราคาน้ำมันยังขึ้นสูงถึงระดับ 90-100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จะส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทย มีโอกาสพุ่งสูงเกินกว่า 3% ได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนชะลอลงจากราคาพลังงานที่แพงขึ้น ทั้งค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม รวมถึงอาหารสำเร็จรูปที่อาจปรับราคาขึ้นด้วย

พร้อมมองว่า ยังต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนต่อไป เพราะหากมีการปะทะเกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการเดินทางระหว่างประเทศ และหากความขัดแย้งยืดเยื้อไปจนถึงครึ่งปีหลัง ก็จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศรัสเซียจำนวนกว่า 2 แสนคนอาจหายไปได้

อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาครัฐ ก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แต่หากราคาพลังงานยังปรับตัวสูงกว่านี้ รัฐอาจต้องเข้ามาดูแลเพิ่มเติม ทั้งราคาก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้าที่อาจปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนโดยตรง

“สิ่งที่รัฐต้องคำนึงต่อไป คือ เรื่องราคาสินค้า บริการ และค่าขนส่ง รวมถึงราคาอาหารสำเร็จรูป โดยรัฐต้องเข้ามาดูแลโครงสร้าง และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน”

นายพชรพจน์ กล่าว

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (9 ก.พ.) คาดว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยยังคงอยู่ที่ 0.50% ถึงแม้เงินเฟ้อในเดือนแรกของปีจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น มองว่าเงินเฟ้อน่าจะสูงแค่ช่วงครึ่งปีแรก และในช่วงครึ่งปีหลังจะค่อยลดลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 65)

Tags: , , , , , ,