นายเสรี สินธุอัสว์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LALIN) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/64 คาดว่าสามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ จากยอดขายรอโอน (Backlog) ที่มีอยู่กว่า 1 พันล้านบาท รวมถึงยอดจองในเดือน เม.ย.-พ.ค. 64 ก็ยังทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ แม้ว่ายอดการเข้าเยี่ยมชมโครงการจะลดลงไปบ้างจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบ 3 แต่บริษัทสามารถปิดการขายได้มากขึ้นจากกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการซื้อบ้านจริง
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 64 เติบโตราว 6% ขณะที่การระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นมากนัก เนื่องจากบริษัทยังคงสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีอยู่
ด้านเปิดโครงการในปี 64 จะยังเปิดตามแผนงานทั้งหมด 10-12 โครงการ มูลค่ารวม 6-7 พันล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกจะเปิดตัวทั้งหมด 7 โครงการ มูลค่า 4.68 พันล้านบาท
ในไตรมาส 1/64 เปิดไปแล้ว 5 โครงการ ได้แก่ LIO Bliss ศรีนครินทร์-เทพารักษ์ มูลค่าโครงการ 430 ล้านบาท ขนาด 173 ยูนิต, Baan Lalin the Prestige ประชาอุทิศ-สุขสวัสดิ์ มูลค่า 900 ล้านบาท ขนาด 181 ยูนิต, Lanceo Crib ศรีนครินทร์-เทพารักษ์ มูลค่า 350 ล้านบาท ขนาด 88 ยูนิต, Lanceo Crib เพชรเกษม-ไร่ขิง มูลค่า 450 ล้านบาท ขนาด 138 ยูนิต และ Lalin Town ลำลูกกา-คลอง 2 มูลค่าโครงการ 1.5 พันล้านบาท ขนาด 487 ยูนิต
สำหรับโครงการที่เปิดตัวไปแล้ว บางโครงการจะทยอยรับรู้รายได้ข้ามาในไตรมาส 2/64 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3/64 และในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ บริษัทมีแผนจะเปิดโครงการใหม่เพิ่มอีก 2 โครงการ มูลค่า 1.05 พันล้านบาท ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังมีแผนเปิดโครงการเพิ่มอีก 3-4 โครงการ ซึ่งบริษัทจะทิ้งช่วงรอดูสถานการณ์ตลาดเพื่อดูจังหวะเหมาะสมอีกครั้ง
ขณะเดียวกันบริษัทได้เพิ่มฟังก์ชั่นทั้งในบ้าน และบริเวณรอบๆบ้าน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยของลูกค้ามากขึ้น ทั้งการใช้สีทาบ้านแบบฆ่าเชื้อโรค, การเดินสาย LAN ในบ้านเพื่อให้สัญญาณไวไฟกระจายทั่วถึง และการระบายอากาศลดความร้อนในบ้าน รวมถึงบริษัทยังใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานโซลาร์เซลล์ในพื้นที่สวนสาธารณะ หรือมีการบำบัดน้ำเสียและนำน้ำมาใช้ในการลดน้ำต้นไม้ด้วย
ด้านราคาวัตถุดิบนั้น ราคาเหล็กในไทยเริ่มทยอยปรับลดลงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามราคาเหล็กยังคงสูงอยู่ ซึ่งประเมินว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของบริษัทมากนัก เนื่องจากบริษัทมีการสั่งจองเหล็กล่วงหน้าในปริมาณที่เพียงพอถึงเดือนส.ค. 64 ในราคาต้นทุนเดิม ขณะที่ราคาวัตถุดิบอื่นๆ ปรับลดลงบ้าง เช่น ปูนซีเมนต์ เนื่องจากผู้ประกอบการรายอื่นๆเองก็ได้รับผลกระทบจากการระบาคของโควิด-19 รอบ 3 จึงชะลอการเปิดโครงการใหม่ออกไป ทำให้ความต้องการซื้อวัตถุดิบนั้นมีน้อยลงตามไปด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 64)
Tags: LALIN, บ้าน, ผลประกอบการ, ลลิล พร็อพเพอร์ตี้, หุ้นไทย, อสังหาริมทรัพย์, เสรี สินธุอัสว์