น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้ยกเลิกแนวทางปฏิบัติตาม ว 845 และยกเว้นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน แก้ไขปัญหาการสมยอมกันในการเสนอราคา
เนื่องจากปัจจุบันแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ยังขาดความคล่องตัวและเกิดปัญหาในทางปฎิบัติ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ จึงได้ยกเลิกแนวทางปฏิบัติดังกล่าว รวมทั้งยกเว้นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
– เงื่อนไขเกี่ยวกับผู้ประกอบการ SMEs
ยกเลิกการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการ SMEs ไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณที่ตรงกับการขึ้นทะเบียนสินค้าหรืองานบริการที่ สสว. กำหนด และยกเลิกการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างกับ SMEs ในพื้นที่ที่จังหวัดของหน่วยงานของรัฐตั้งอยู่ก่อนโดยวิธีคัดเลือก หากพัสดุที่หน่วยงานของรัฐต้องการจัดซื้อจัดจ้างนั้นมี SMEs ขึ้นทะเบียนไว้ครบตั้งแต่ 6 รายขึ้นไป กรณีให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการ SMEs ในการเสนอราคาสูงกว่าผู้ประกอบการทั่วไปได้ไม่เกิน 10% ของราคาต่ำสุดของผู้ประกอบการที่ไม่เป็น SMEs ยังคงเดิม
– เงื่อนไขเกี่ยวกับสินค้า Made In Thailand (MIT) สำหรับกรณีการจัดซื้อ
ยกเลิกกรณีพัสดุที่จะจัดซื้อมีผู้ประกอบการที่ได้รับเครื่องหมาย MIT จากสภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งแต่ 6 รายขึ้นไป ให้กำหนด Spec ว่าเป็นพัสดุที่ได้รับ MIT และต้องจัดซื้อจากผู้ประกอบการที่มีเครื่องหมาย MIT เท่านั้น และเพิ่มเติมเงื่อนไขใหม่ดังนี้
(1) ให้แต้มต่อกับผู้เสนอราคาได้เสนอพัสดุที่เป็นพัสดุที่ผลิตภายในประเทศที่ได้รับการรับรองเครื่องหมาย MIT จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สูงกว่าผู้เสนอราคารายอื่น ไม่เกิน 5%
(2) กรณีใช้การพิจารณาแบบราคารวม ให้แต้มต่อกับผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้เสนอสินค้าหลายรายการรวมกันเป็นสินค้าที่ได้รับเครื่องหมาย MIT จากสภาอุตสาหกรรมฯ โดยมีมูลค่าตั้งแต่ 60% ขึ้นไป ในการเสนอราคาสูงกว่าผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น ไม่เกิน 5%
– กรณีผู้เสนอราคาเป็นบุคคลไทยหรือนิติบุคคลไทยตามกฎหมาย
ให้แต้มต่อผู้เสนอราคาที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้ยื่นข้อเสนอซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มิได้ถือสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ไม่เกิน 3%
– กรณีการจัดซื้อจัดจ้างวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท
กำหนดให้กรณีวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งที่มีวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการ SMEs เป็นลำดับแรกก่อน
“การยกเลิกแนวทางปฏิบัติตาม ว 845 และการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องการสมยอมกันในการเสนอราคา และลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งลดความผิดพลาดในการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง”
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 78 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 โดยหนังสือฉบับนี้ จะมีผลกับการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ที่จะประกาศเชิญชวนในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป
สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือก กรณีหน่วยงานของรัฐได้ส่งหนังสือเชิญชวนไปยังผู้ประกอบการ SMEs จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 ให้ยกเลิกการเชิญชวนนั้น และดำเนินการใหม่ภายใต้เงื่อนไขตามหนังสือฉบับนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.พ. 65)
Tags: กรมบัญชีกลาง, กุลยา ตันติเตมิท, จัดซื้อจัดจ้าง