นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บมจ. ปตท. (PTT) กล่าวในวงเสวนา “ศักยภาพใหม่ประเทศไทย” โดยระบุว่า สถานการณ์ของประเทศไทย หลังจากได้ผ่านปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดต่อเนื่องมา 2 ปีเต็ม และเข้าสู่ช่วงปลายทางของโควิดแล้วนั้น ถือว่าในช่วงนี้เหมาะสมที่จะต้องเข้าสู่การปรับตัว และร่วมเดินหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
พร้อมมองว่า ในโลกปัจจุบันการเติบโตคงไม่สามารถพูดได้แค่ในระดับ 5% 10% แล้ว แต่จะต้องพูดกันในระดับการเติบโตที่ 3 เท่า 5 เท่า หรือ 10 เท่า เพราะการเติบโตที่ 3-5% คงจะไม่สามารถตามทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ทั้งในการดำเนินธุรกิจ และในชีวิตประจำวัน เนื่องจากประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ 2 กระแสที่สำคัญ คือ 1.สังคมคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 2.สังคมผู้สูงวัย ที่มีความจำเป็นจะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ และธุรกิจใหม่ๆ ให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคตได้
ทั้งนี้ หากจะพิจารณาในส่วนของ ปตท. สิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างเห็นได้ชัด เช่น การปรับจากธุรกิจน้ำมัน หรือ Fossil Base ไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น นอกจากนี้ ปตท. ยังได้จัดตั้ง บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย การดูแลสุขภาพ อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงอาหารทางการแพทย์ เป็นต้น เพราะมองว่าในอนาคตธุรกิจ Life Science จะเข้ามามีส่วนสำคัญมากขึ้น
“การที่เทคโนโลยีมาเร็ว ไปเร็ว ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถตามได้ทัน แต่จะทำอย่างไรให้คนในระดับกลางๆ ตามขึ้นมา คนระดับท้ายๆ สามารถเข้าถึงโอกาสได้ ถ้ามีองค์ประกอบพวกนี้ จะทำให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จ เพราะไทยเรามีความชำนาญหลาย skill แต่จะทำให้อย่างไรให้ทุกคนมีความสามารถในการแข่งขันได้”
นายบุรณิน กล่าว
ด้านนายศรุต วานิชพันธุ์ CEO Sea Thailand มองว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องใช้ความพยายามในการสร้างสมดุลระหว่างด้านเศรษฐกิจกับด้านสาธารณสุขนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า เศรษฐกิจดิทิจัลของไทยกลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง และไทยเองถือเป็นประเทศอันดับที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการเติบโตสูงในด้านนี้ ไลฟ์สไตล์ของคนไทยในช่วงดังกล่าวปรับมาสู่ดิจิทัลมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้บริการสั่งอาหารแบบเดลิเวอร์รี่ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่ทำให้เห็นว่าดิจิทัลเทคโนโลยี ได้เข้ามาส่วนสำคัญรวมถึงเริ่มเข้ามาเป็นกระแสหลักของการทำธุรกิจในปัจจุบันมากขึ้น อันจะมีส่วนช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ดี มองว่าเครื่องยนต์ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบเดิม เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันกับยุคสมัยของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ว่าของเดิมจะไม่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพ เพียงแต่ปรับให้มีศักยภาพมากขึ้น และสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ในอนาคต
“2 ปีที่ผ่านมา โควิดถือว่ามาเปิดแผลเครื่องยนต์ที่กำลังวิ่งว่ามีจุดไหนที่จะต้องแก้ไข เครื่องยนต์บางตัวที่ชะงัก เช่น การท่องเที่ยว การลงทุนนั้น ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าในอนาคตจะต้องทำอะไรให้ตรงกับ trend ของโลกมากขึ้น เครื่องยนต์เดิมก็ยังคงวิ่งอยู่ แต่ต้องโมดิฟายให้วิ่งต่อได้ดีขึ้นในอนาคต”
นายศรุต กล่าว
พร้อมมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจใหม่จะต้องคำนึงถึงหลัก 3 ประการ คือ 1. Digitalization สามารถทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น จนสามารถนำมาใช้ประกอบอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งมีส่วนช่วยในการผลักดันเศรษฐกิจได้ 2. Sustainability การสร้างความยั่งยืน เช่น การผลิตสินค้าที่เป็น Green Product มากขึ้น และ 3. Creative Economy หรือ Soft power ซึ่งคนไทยมีความสามารถในด้านนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานด้านศิลป บันเทิง วัฒนธรรม และกีฬา โดยแนวโน้มที่เห็นได้ชัดคือ e-sport ที่ไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากปัจจุบัน
นายศรุต ยังเห็นว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการรองรับเศรษฐกิจดิทิจัล เพียงแต่สิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา คือ ด้านความรู้และทักษะของบุคลากรรุ่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเพื่อเข้าสู่โลกแห่งอนาคต และเห็นว่าควรต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงของการศึกษา
“เรามี hard infrastructure ที่แข็งแรงสำหรับ digital economy แต่ยังตกอันดับเรื่องของความรู้ การพัฒนาทักษะ ความพร้อมของทักษะที่จะเข้าสู่โลกอนาคตเรายังมีน้อยกว่าประเทศอื่น เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มสร้างตั้งแต่ระดับนักศึกษาให้มีความพร้อมที่จะก้าวสู่อนาคต”
นายศรุต กล่าว
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เห็นได้ชัดว่าธุรกิจประเภทไหนที่ได้รับผลกระทบ และธุรกิจไหนที่ยังเติบโตต่อไปได้ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า โควิดเป็นตัวเร่งให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้สามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น เพราะทุกๆ 10 ปี จะมี infrastructure เข้ามาเปลี่ยนกฎของโลกธุรกิจ เปลี่ยนความเชื่อในการทำธุรกิจให้เกิด Business Model ใหม่ ดังนั้นบริษัทหรือธุรกิจที่ได้รับประโยชน์และยังอยู่รอดได้ จะเป็นกลุ่ม New economy ในขณะที่บริษัทหรือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ คือ กลุ่ม Old economy
“มันไม่สำคัญว่า 50 ปีที่แล้วเราเดินผิดพลาดอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ใน 10 ปีข้างหน้า เราจะเดินอย่างไร ซึ่งจะมี impact มากกว่า…อีก 10 ปีข้างหน้าอาจจะมีธุรกิจใหม่ๆ เช่น ออกกำลังกายแล้วได้เงิน เล่นเกมแล้วได้เงิน เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเมืองไทยควรมองหาโอกาสใหม่ๆ อย่าพัฒนาอยู่บนสิ่งเก่า หรือแก้ปัญหาบนสิ่งเดิม แต่ให้หา S curve ใหม่ๆ”
นายจิรายุส กล่าว
พร้อมมองว่า จะต้องเป็นความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนา ecosystem ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่จุดนี้ โดยในส่วนของภาคเอกชน จะต้องกล้าที่จะลงทุน กล้าเปิดธุรกิจอนาคต ในขณะที่ภาครัฐเอง จะต้องออกนโยบายหรือกฎหมายที่ make sense ทันโลกมากขึ้น หรือเปรียบเหมือนกับให้คนไทยถือปืน ให้ต่างชาติถือมีด
“ในอนาคตจะต้องมีการผสมผสานของเทคโนโลยีต่างๆ ที่หลากหลาย เป็นการ blend in ของหลาย layer เพื่อ transform business การจะประสบความสำเร็จในอนาคต คงไม่ใช่แค่ใช้เทคโนโลยีตัวใดตัวหนึ่ง แต่ต้องใช้หลายๆ ตัวร่วมกัน”
นายจิรายุส ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 65)
Tags: PTT, บุรณิน รัตนสมบัติ, ปตท.