ธปท.แจงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ในปี 63 ที่ประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤตการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 นั้น

ธปท. พร้อมด้วยสถาบันการเงิน ได้ร่วมกันดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.พ.63 ทั้งมาตรการในส่วนของแก้หนี้เดิม เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะ 1-3 มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มาตรการแก้หนี้ระยะยาว มาตรการรวมหนี้ พร้อมกับมาตรการในส่วนของการเติมเงินใหม่ เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ย และสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งเป็นการรักษาสภาพคล่องเดิม และเติมเงินใหม่ให้ลูกหนี้รายย่อย ตลอดจนช่องทางการช่วยเหลืออื่นๆ ผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้ ทางด่วนแก้หนี้ และหมอหนี้

โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 24 ม.ค. 65 ความคืบหน้าในส่วนของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มีสินเชื่อที่อนุมัติแล้ว 1.46 แสนล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 4.49 หมื่นราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ยรายละ 3.2 ล้านบาท ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้ มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้ว 3.49 หมื่นล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือ 266 ราย โดยยังมีผู้ประกอบธุรกิจอีกหลายแห่งให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน

สำหรับความคืบหน้ามาตรการทางการเงิน ในส่วนของการแก้หนี้เดิมนั้น ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ครัวเรือนและลูกหนี้ภาคธุรกิจ รวมแล้ว 5.91 ล้านบัญชี (ธนาคารพาณิชย์+Non Bank 2.01 ล้านบัญชี สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3.9 ล้านบัญชี) คิดเป็นจำนวนเงิน 3.6 ล้านล้านบาท (ธนาคารพาณิชย์+Non Bank 2.09 ล้านล้านบาท สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 1.51 ล้านล้านบาท)

ส่วน Digital P-loan ข้อมูล ณ 31 ธ.ค.64 มีผู้ได้รับสินเชื่อแล้ว 7.46 แสนราย มียอดคงค้าง 3,868 ล้านบาท ยอดหนี้เฉลี่ยรายละ 5,100 บาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Digital P-loan ที่ได้รับอนุญาตแล้ว 8 ราย แต่เริ่มปล่อยสินเชื่อ Digital P-loan ได้แล้ว 4 ราย คือ SEAmoney, ASCENDnano, AEONT, KBANK

สำหรับมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 3 ก.ย. 64 นั้น ธปท.ได้สื่อสารและติดตามมาตรการกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่ลูกหนี้ เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งพบว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่ เริ่มให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ ก.ย.64 โดยมีการออกแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวแล้ว

ขณะที่มาตรการสนับสนุนรีไฟแนนซ์ และการรวมหนี้นั้น สถาบันการเงินส่วนใหญ่ได้มีมาตรการรวมหนี้ เช่น หนี้บ้าน กับหนี้รายย่อยอื่นๆ (บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล) ซึ่งได้เริ่มทยอยดำเนินการตั้งแต่ ต.ค.64 แล้ว ประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับ คือ สามารถลดภาระดอกเบี้ยและการผ่อนค่างวดลง โดยเป็นการรวมหนี้ไว้ในธนาคารเดียวกันหรือต่างธนาคารได้ ซึ่งจะไม่ทำให้เสียประวัติข้อมูลเครดิต หากการเจรจารวมหนี้กับธนาคารสำเร็จก่อนเป็นหนี้เสีย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ม.ค. 65)

Tags: , ,