นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการสาระสำคัญของร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 – 2570 ประกอบด้วย ประเด็นการพัฒนา ได้แก่ 1) ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ 2) พัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ 3) ยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ และ 4) พัฒนาการตลาด และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์
พร้อมกันนี้ ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานคณะทำงาน หน่วยงานผู้แทนระดับกระทรวง ผู้แทนระดับกรม ร่วมเป็นคณะทำงาน โดยมีผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าภายใน) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร) และสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ เพื่อดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในปี 2565 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณ 851.10 ล้านบาท ดำเนินการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวม 94 โครงการ ประกอบด้วย แผนการส่งเสริม วิจัย พัฒนานวัตกรรม ฐานข้อมูล และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ รวม 48 โครงการ งบประมาณ 176.83 ล้านบาท พัฒนาการผลิตและการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ รวม 21 โครงการ งบประมาณ 552.00 ล้านบาท และพัฒนาการตลาด การบริการ และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวม 25 โครงการ งบประมาณ 122.27 ล้านบาท
โฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2560 – 2564) พบว่ามีโครงการเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งสิ้น 342 โครงการ เพื่อมุ่งสู่การเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย รวมถึงมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ต่อปี ด้วยวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายในปี 2565”
ทั้งนี้ ในปี 2564 มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน (ภาครัฐและภาคเอกชน) อยู่ที่ 1.51 ล้านไร่ มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จำนวน 95,752 ราย เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย ปี 2560 – 2563 ยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ทุเรียน มังคุด มะพร้าวอ่อน น้ำกะทิ และใบชาเขียว โดยปริมาณการส่งออกมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 31.58% ต่อปี และมูลค่าการส่งออกมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 44.46% ต่อปี ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง อิตาลี และเวียดนาม
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยในปี 2564 (มกราคม – พฤศจิกายน 2564) มีมูลค่า 1,238.97 ล้านบาท สินค้าเกษตรอินทรีย์ส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 878.64 ล้านบาท ผลไม้อินทรีย์สดและแช่แข็ง และสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่น ๆ (ทุเรียนสดและแช่แข็ง มังคุดสดและแช่แข็ง มะพร้าวอ่อน น้ำกะทิ และใบชาเขียว) มีมูลค่าอยู่ที่ 360.33 ล้านบาท และตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี จีน และสวิสเซอร์แลนด์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 65)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ฉันทานนท์ วรรณเขจร, สศก., สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, เกษตรอินทรีย์