ทีมเศรษฐกิจ ปชป.นำนักธุรกิจฟินเทคพบ รมว.คลัง เสนอเว้นเก็บภาษีคริปโทฯ 5 ปี

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ด้านเศรษฐกิจ กล่าวภายหลังนำกลุ่มนักธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (ฟินเทค) เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง, นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

การเข้าพบครั้งนี้เพื่อนำเสนอมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ให้ภาครัฐได้รับทราบทั้งอุปสรรคและโอกาส ซึ่งเชื่อว่า หากได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลจะทำให้อุตสาหกรรมนี้เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อีกมหาศาล โดยเฉพาะในภาคธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีศักยภาพ และโอกาสในการเติบโต แต่กำลังเผชิญกับอุปสรรคสำคัญเรื่องการจัดเก็บภาษี แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายมาแล้วถึง 3 ปี แต่ในทางปฏิบัติกลับยังไม่มีความชัดเจน

ที่ผ่านมา ตนในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยได้เข้าพบกรมสรรพากรหลายครั้งเพื่อหารือในแนวทางการจัดเก็บภาษี ซึ่งทางกรมสรรพากรก็กำลังเร่งออกแนวทางการจัดเก็บอย่างเร่งด่วน แต่มองว่าอาจจะไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม เพราะการเร่งกระบวนการทำงานเพื่อหาข้อสรุปในระยะเวลาอันสั้นอาจได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยที่จะเกิดความยุ่งยากในทางปฏิบัติ อาจนำไปสู่ตัดสินใจย้ายไปเทรดในตลาดต่างประเทศแทน

“ผมเชื่อในแนวคิด ฟรีภาษี เสรีคริปโท ฉะนั้นการยกเว้นหรือเลื่อนการจัดเก็บภาษีคริปโทออกไปก่อนสัก 5 ปี หรือแม้กระทั่งการให้นำมาเป็นค่าลดหย่อนได้ จะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโต เพราะตลาดนี้ยังไม่โตเต็มที่การเก็บภาษีในช่วงเวลานี้นักลงทุนอาจย้ายหนี เพราะธุรกิจนี้เป็น Global นักลงทุนสามารถเลือกเทรดกับเอ็กซ์เช้นจ์ต่างประเทศได้ไม่ยาก ตรงนี้จะทำให้สตาร์ทอัพด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเสียโอกาส” นายปริญญ์ กล่าว

เมื่อมีการยกเว้นหรือชะลอการเก็บภาษีคริปโทฯ ออกไปก่อนอุตสาหกรรมจะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงค่อยกลับมาพิจารณาการจัดเก็บภาษีนักเทรด ส่วนในแง่ของภาษีที่เก็บจากผู้ประกอบการ เมื่อถึงตอนนั้นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลก็จะแข็งแรงแล้ว รัฐบาลย่อมสามารถที่จะจัดเก็บภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากค่าธรรมเนียมการเทรดได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และอาจเป็นไปได้ที่จะมียอดจัดเก็บได้มากกว่าภาษีจากนักลงทุนรายย่อยด้วยซ้ำ

นายปริญญ์ กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงแค่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีคริปโทฯ เท่านั้นที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของอุตสาหกรรม แต่ยังรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี NFT (Non-Fungible Token) ที่ทางสำนักงานก.ล.ต. ส่งสัญญาณการเข้ามากำกับดูแล ตรงนี้มองว่ายังเร็วเกินไปเพราะเทคโนโลยี NFT เพิ่งจะเริ่มต้น การออกกฎหมายมาควบคุมจะทำให้อุตสาหกรรมหดตัวทั้งที่ยังไม่ทันได้เติบโต ผู้ประกอบการตลาด NFT อาจหนีไปต่างประเทศ คนซื้อขายก็จะไปใช้บริการตลาดต่างประเทศ เนื่องจากตลาดนี้ก็เป็น Global และต้องยอมรับว่าปัจจุบัน NFT คืออีกช่องทางในการหารายได้เพิ่มของศิลปินรายเล็ก ได้เข้ามาในพื้นที่นี้เพื่อสร้างรายได้ในโลกดิจิทัล

“แม้ว่าตอนนี้ทางรัฐบาลก็พยายามช่วยเต็มที่ในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ เช่น การยกเว้นภาษี Capital Gains Tax สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ตรงนี้เราเข้าใจและขอบคุณทางรัฐบาล แต่ทางเราก็อยากเห็นรัฐบาลสนับสนุนให้มันครบองค์รวม ที่ครอบคลุมถึงระบบนิเวศน์ของฟินเทคโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะภาคส่วนนี้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้อีกมาก ซึ่งการที่ระบบนิเวศน์นี้จะเติบโตได้จะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร และองค์ประกอบที่สำคัญเลยคือการได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องภาษี” นายปริญญ์ กล่าว

นอกจากกนี้ ยังได้เสนอเรื่องของการผลักดันให้รัฐบาลนำบล็อกเชนมาใช้ในการตรวจสอบงบประมาณของภาครัฐ เพื่อลดการทุจริตและคอร์รัปชั่น เช่น การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ หากตรวจสอบได้ด้วยบล็อกเชนจะช่วยให้เกิดความยุติธรรม ประชาชนสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส ด้วยเหตุนี้จะทำให้การใช้เงินภาษีของประชาชนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

พร้อมย้ำถึงประโยชน์ของระบบบล็อกเชนว่า ช่วยให้สตาร์ทอัพและ SMEs สามารถระดมทุนได้คล่องตัวมากขึ้นจากผู้ที่มีเงินทุนส่วนเกินทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ ได้เข้ามาลงทุนในบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนแบบ ICO หรือแบบ STO ก็ตาม เพราะการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นอาจต้องใช้เวลาและมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดกว่า ดังนั้น ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนเหล่านี้ก็ต้องไม่เป็นอุปสรรคด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ม.ค. 65)

Tags: , , , , ,