CIMBT ตั้งเป้าสินเชื่อปี 65 โต 5-8% ตามศก.ฟื้น, คุม NPL ไม่เกิน 3.7%

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปี 65 พลิกกลับมาเติบโต 5-8% จากพอร์ตสินเชื่อรวมสินปีก่อนที่ 2.12 แสนล้านบาท หลังจากที่ปี 64 ที่ผ่านมาสินเชื่อของธนาคารลดลงไปถึง 6.6%

โดยธนาคารมองว่า ในปีนี้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศสามารถควบคุมได้อย่างดี ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศสามารถดำเนินได้ตามปกติ และคาดหวังการเปิดประเทศที่จะกลับมาช่วยหนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 65

สำหรับกลยุทธ์ของธนาคารยังคงเน้นไปที่กลุ่มลูกค้ารายย่อยเป็นหลักในการสร้างการเติบโตของสินเชื่อ ซึ่งจะเริ่มกลับมารุกอีกครั้งหลังจากที่ปีก่อนธนาคารมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยที่สัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของธนาคารยังคงมากที่สุดที่ 60% ซึ่งมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้จะช่วยหนุนให้ความต้องการใช้สินเชื่อของกลุ่มลูกค้ารายย่อยกลับมามากขึ้น

ขณะที่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ธนาคารยังคงมีการขยายสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าลูกค้าธุรกิจจะกลับมาลงทุนอีกครั้งในปีนี้ ทำให้จะมีการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และยังเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรองมาจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ 33% ส่วนกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีธนาคารยังคงชะลอการปล่อยสินเชื่อ เพราะยังเป็นกลุ่มที่มีการฟื้นตัวที่ช้าและมีความเสี่ยงอยู่

ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะควบคุมไม่เกิน 3.7% หรือทรงตัวจากปีก่อน ซึ่งในเบื้องต้นธนาคารยังคงมีการบริหารจัดการ NPL ด้วยธนาคารเองก่อน แต่หากมีโอกาสที่ดีในการขาย NPL ออกมาก็อาจจะมีการพิจารณาขาย NPL ออกไปได้เช่นกัน ซึ่งในปี 64 ธนาคารได้มีการขาย NPL ออกไปบางส่วน ส่งผลให้ NPL ลดลงจาก 4.6% มาที่ 3.7% แม้ว่าจะยังสูงกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน แต่ถือเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

นอกจากนี้ธนาคารยังคงเน้นการใช้ระบบดิจิทัลและการใช้ฐานข้อมูลจะมีบทบาทหลักที่ช่วยขยายการเข้าถึงและขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น ผ่านแอปพลิเคชัน CIMB THAI Digital Banking ที่สะดวกสบาย ง่าย และราบรื่น ผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สปีดดี (Speed D) และสปีดดี พลัส (Speed D+) ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะสดใหม่ และตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย

ขณะเดียวกันด้านบริการ Digital wealth platform ที่ธนาคารสร้างขึ้น ที่ได้เดินหน้าเพิ่มบริการจองซื้อหุ้นกู้ตลาดรองเข้ามาเพิ่มเติมในแอป CIMB THAI Digital Banking ยิ่งช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้ามีต่อเนื่อง หัวใจสำคัญที่ต้องทำงานคู่กันกับ Digital wealth platform คือ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาการลงทุน และ relationship manager ที่เข้าใจความต้องการของลูกค้า และทำให้บริการด้านการลงทุนของลูกค้ามีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งผนวกเข้ากับธุรกิจบริหารเงิน (Treasury and Markets) ที่เข้ามาสนับสนุนกลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,