นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า จากปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ทำให้เจ้าของฟาร์มและผู้ค้าหมูทั้งระบบได้รับความเดือดร้อน และยังส่งผลให้เนื้อหมูขาดแคลนจนมีการปรับราคาขายปลีกสูงสุดในรอบ 10 ปี ธนาคารฯ ได้เร่งติดตามสอบถามผลกระทบที่ลูกค้าได้รับ โดยเฉพาะลูกค้าที่อยู่ในจังหวัดที่มีการทำฟาร์มหมูจำนวนมาก เช่น นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อยุธยา และอ่างทอง เป็นต้น เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกค้า โดยส่งมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน เพื่อช่วยลูกค้าของธนาคารทั้งเจ้าของธุรกิจฟาร์มหมู เขียงหมู และโรงเชือด ดังนี้
1. มาตรการพักชำระเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ย เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกค้าของธนาคารอย่างเร่งด่วน ด้วยการพักชำระเงินต้นจ่ายแต่ดอกเบี้ย นานสูงสุด 6 เดือน
2. มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ และใช้ลงทุนหรือปรับปรุงสถานประกอบการให้กลับมาทำธุรกิจได้อีกครั้ง โดยลูกค้าปัจจุบันจะกู้ได้สูงสุด 30% ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจที่มีอยู่กับธนาคารกสิกรไทย สูงสุด 150 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี พักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย นานสูงสุด 24 เดือน อัตราดอกเบี้ย 2% ใน 2 ปีแรก โดยเฉลี่ย 5 ปี อัตราดอกเบี้ยจะไม่เกิน 5% ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก และฟรีค่าธรรมเนียมการจัดการให้กู้
นายกฤษณ์ กล่าวว่า สำหรับวิกฤตหมูแพงในครั้งนี้ ธนาคารได้เตรียมวงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกค้า
“ธนาคารกสิกรไทย มุ่งหวังที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่ลูกค้าได้รับ และพร้อมที่จะเดินเคียงข้างสู้กับทุกวิกฤตที่เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารสามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้”
นายกฤษณ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ม.ค. 65)
Tags: ASF, KBANK, กฤษณ์ จิตต์แจ้ง, ธนาคารกสิกรไทย, พักชำระเงินต้น, ฟาร์มหมู, สินเชื่อฟื้นฟู